สาระน่ารู้ ชั่งตวงวัด

กรณีศึกษาการออกแบบ และ/หรือ การก่อสร้างระบบการวัดปริมาตรของเหลวปิโตรเลียมทางรถยนต์

 
กรณีศึกษาการออกแบบ และ/หรือ
การก่อสร้างระบบการวัดปริมาตรของเหลวปิโตรเลียมทางรถยนต์
(Case Study – Considerations and Perspectives :
Dynamic measuring systems for liquids other than water - Truck Loading)
 
 
ความคิดเห็น..... ของข้าราชการคนหนึ่ง......
เดิมที.. เรามีมุมมองว่าสาธารณูประโภคพื้นฐานทางด้านงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมายของประเทศเรานั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว  ประกอบกับภาครัฐก็ไม่พร้อมอันเนื่องจากสาเหตุในเรื่องทั้งระบบราชการ งบประมาณ คุณภาพและจำนวนข้าราชการและ.... จึงต้องย้อนกลับไปที่หลักคิดว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน   จึงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือและหากเราเตรียมตัวกันดีแล้วอีกทั้งบูรณาการเชื่อมสาธารณูประโภคพื้นฐานทางด้านงานชั่งตวงวัดของราชอาณาจักรไทยเข้าด้วยกัน เชื่อได้ว่าจะช่วยยกระดับงานชั่งตวงวัดของราชอาณาจักรไทย   แต่ดูเหมือนว่าจะหันไปทางใดมันก็ดูเหนื่อยล้าไปเสียทุกด้าน รวมทั้งตัวเองด้วยเช่นกัน    แต่อย่ากระนั้นเลย..หรือถ้าอย่างนั้นเลย... เราก็ทิ้งข้อคิดและความคิดเห็นไว้ให้คนรุ่นต่อมาดีกว่า เพื่อคนรุ่นต่อมาจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่วนจะถูกหรือผิดประการใดก็ช่วยกันทำการตรวจสอบซึ่งกระทำได้ไม่ยากเนื่องจากเรามีห้องสมุดอยู่ที่ปลายนิ้วมือด้วย Internet
 
          กรณีศึกษานี้ก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สามารถทิ้งไว้ได้    ก่อนอื่นเริ่มกันที่รูปภาพ Piping and Instrument Diagram (PI Diagram) และรูปภาพจริงเป็นตัวสารตั้งต้น   ทั้งนี้รูปภาพจริงจะเป็นภาพที่นำมาเรียงต่อเนื่องกันอาจตัดต่อหรือทำให้มันเหลื่อมซ้อนทับกันและอาจกลับทิศทางเมื่อเทียบกับรูปใน PI Diagram อีกทั้งไม่มีความสามารถตกแต่งรูปให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ได้ เบลอหน้าตาคนก็ทำไม่เป็น เอาแบบลูกทุ่งตัดต่อและลบแบบง่ายๆ แต่หากใครเห็นแล้วไม่อยากให้แสดงก็แจ้งมา นอกจากนี้เนื้อหาสาระที่พูดคุยกันในที่นี้เป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดปริมาตรของเหลว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดและอายุคารับรอง พ.ศ. 2562   ตลอดจน OIML R117 และ API MPMS Chapter 6.2 Loading Rack Metering Systems เป็นแกนหลักในการพิจารณาแต่ก็ไม่ละเลยเอกสารที่น่าเชื่อถืออื่นๆ ที่โลกเค้ายอมรับกันซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวในที่นี้จนครบทุกเอกสารนะ     มาทำความรู้สะสม หรือ Knowledge Management (KM) เถอะ     เริ่ม..... 


 
รูปที่ 1 PI Diagram
 
รูปที่ 2.1   รูปที่ทำการก่อสร้าง  อาจกลับทิศกับ PI Diagram   (ตัดต่อรูป)
 
รูปที่ 2.2   รูปที่ทำการก่อสร้าง  อาจกลับทิศกับ PI Diagram
 
รูปที่ 2.3   รูปที่ทำการก่อสร้าง  อาจกลับทิศกับ PI Diagram

 

 

 

ประเด็นที่ 1 :  การติดตั้งข้อลด (Reducers) พิจารณา Velocity profile, ความเร็วของเหลวในระบบท่อที่เพิ่มขึ้น/ลดลง เทียบกับความดันที่เพิ่มขึ้น/ลดลงในขณะเดียวกัน, การเตรียมระบบท่อให้พร้อมระบบการวัดปริมาตรของเหลวโดยให้มีแต่สถานะของเหลวสถานะเดียวภายในระบบท่อ

        

 

        เรามาเริ่มต้นตั้งแต่ Ball Valve (BV) ขนาด 10 นิ้ว หมายเลข 109   ในการออกแบบระบบที่ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์จำนวนมาก การใช้หมายเลขกำกับประจำตัวอุปกรณ์นั้นทำให้ง่ายต่อการระบุตำแหน่งที่ชัดเจนรวมทั้งเพื่อจัดทำ Spare Parts สำหรับการซ่อมแซมต่อไปในอนาคต เช่น อาจต้องอัดจารบีกันเพื่อการซีลหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เป็นต้น   สำหรับ BV 109 นี้เมื่อหันไปดูรูปก่อสร้างจริงแล้วพบว่าเห็นเป็นมือหมุนสำหรับปิด-เปิดจึงคาดว่าเป็นการทำงานในลักษณะไม่อัตโนมัติ  หรือปิดเปิดวาล์วเมื่อใช้งานด้วยมือว่าอย่างนั้นเถอะ ส่วนสนนราคาค่าตัววาล์วก็เป็นที่มันใจว่าราคาสูงกว่าเงินเดือนข้าราชการกระจอกๆ อย่างกระผมแน่นอน

         ถัดต่อจากนั้นเป็นท่อที่มีการลดขนาดลงทีละขั้นทีละตอนคือลดขนาดท่อจาก 10 นิ้วลงเหลือท่อขนาด 8 นิ้ว โดยใช้ข้อลดเยื้องศูนย์ (Eccentric Reducer) 1 ตัว จากนั้นลดขนาดท่อจาก 8 นิ้วลงเหลือท่อขนาด 4 นิ้ว โดยใช้ข้อลดเยื้องศูนย์ (Eccentric Reducer) อีก 1 ตัว เช่นเดิม  ก่อนไปจบที่ Double Block and Bleed Valve (DBB 101) เรามาพิจารณาอุปกรณ์ในช่วงท่อดังกล่าวเป็นส่วนๆดังต่อไปนี้    

       1.         ระยะทางของท่อขนาด 10 นิ้วลดลงเหลือ 4 นิ้วนั้นพบว่ายังติดตั้งท่อตัวสามทาง (T-Fitting) จำนวน 1 ตัว ดูจากท่าทางมีการต่อท่อสายยางแล้วน่าจะมีไว้เพื่อขั้นนตอนการเตรียมระบบท่อหรือ Fill Line เพื่อไล่อากาศออกจากระบบท่อในขั้นตอนเริ่มทำงานกระมัง  จากเท่าที่ทราบหลักการวางแนวท่อที่ว่า  “ต้องติดตั้งจุด Vent ที่ตำแหน่ง High Points  และต้องติดตั้งจุด Drain ที่ตำแหน่ง Low Points ในระบบท่อเสมอ  เมื่อเปลี่ยนทิศทางแนวท่อต้องปรับเปลี่ยนระดับท่อเสมอ”   ดังนั้นจึงอนุมานเอาเองว่าการติดตั้งตัวสามทางตัวที (T-Fitting) ขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อให้เป็นจุด High Point?  เพราะที่ด้านท้องท่อขนาด 10 นิ้วได้มีการติดตั้ง Ball Valve ขนาด 1 นิ้ว หมายเลข XXX  ไว้สำหรับการ Drain?   ส่วนท่อตัวสามทางตัวที (T-Fitting) จะทำหน้าที่ Vent ได้ดีตามความต้องการนั้นส่วนตัวคาดว่าไม่น่าจะ Work ดีเท่าทีควร   สำหรับจุด High Point ดังที่เห็นเพราะต้องคอยเอาถัง 200 ลิตรมารองรับ  ซึ่งในทางปฏิบัติถือเป็นจุดสุ่มเสี่ยงและอันตรายเป็นอย่างมากในวงการปิโตรเลียม  หากต้องทำการ Vent อยู่เสมอทั้ง Oil Spill ทั้งอาจระเบิดติดไฟ เป็นต้น    

         2.         การติดตั้งข้อลดเยื้องศูนย์ (Eccentric Reducer) ทั้ง 2 ตัวและทั้ง 2 ขนาดถือว่าถูกต้องเพราะอยู่ในหลักการสำหรับระบบท่อที่ใช้งานกับของเหลวล้วนๆ นั้นคือ “ต้องติดตั้งข้อลดเยื้องศูนย์ (Eccentric Reducer) ในลักษณะที่ไล่อากาศออกจากระบบท่อออกไปให้ได้ดีที่สุด” ดูรูปที่ 3   แต่สิ่งที่ต้องคำนึงต่อมาก็คือ Flow Velocity ในระบบท่อในแต่ละช่วงๆ   จะต้องมีค่าไม่สูงมากจนเกินไปซึ่งอาจอยู่ในช่วงตั้งแต่ 6 fps – 23 fps (1.83 mps – 7 mps)  ซึ่งช่วงความเร็วของเหลวในการออกแบบระบบท่อที่น่าพิจารณาว่าเหมาะสมนั้นดูได้ในรูปที่ 4 - รูปที่ 6 ทั้งนี้เพื่อลดความเสียดทานภายในระบบท่อให้อยู่ในระดับคุ้มค่าต่อการลงทุน ป้องกันไม่ให้เกิดเสียงดังมากจนเกินไปอันเนื่องจากความเร็วของเหลววิ่งภายในท่อด้วยความเร็วที่สูง, ป้องกันการสั่นสะเทือนในระบบท่อเพราะของเหลวภายในท่อมีพลังงานโมเมนต์ขณะไหลแล้วหากเกิดเปลี่ยนทางทางการไหล, นอกจากนี้การเลือกความเร็วของเหลวภายในระบบท่อยังช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ซึ่งนำมาซึ่งการระเบิดหากของเหลวปิโตรเลียมนั้นติดไฟได้ง่ายๆ เช่น พวกเบนซิลแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น   ในความเร็วของเหลวภายในท่อที่ปรากฎในรูปที่ 5 นั้นใช้กับกรณีที่เป็นท่อ Carbon Steel, API SPECIFICATION 5L Specification for Line Pipe, Sch. 40 กระมัง ได้เอามาจาก API แต่แน่ๆเท่าที่ทราบความเร็วสูงสุดของเหลว (Liquid) แนะนำสำหรับการออกแบบ Control Valve ไม่ควรเกิน 30 m/s    

 
 
รูปที่ 3   ข้อลด/ข้อเพิ่ม (Pipe Reducer) กับระบบท่อที่ของไหลเป็น “ของเหลว” ไม่ควรใช้ข้อต่อตัว “T”
 
นอกจากนี้ตามหลักการของการไหลของเหลวภายในท่อแล้ว ของเหลวนั้นจะมีลักษณะพฤติกรรมเป็นไปตามสมการเบอร์นูลี่ ซึ่งเป็นสมการเจ้าพ่อสำหรับการไหลภายในท่อก็ว่าได้โดยเฉพาะของเหลวภายในระบบท่อที่เราใช้งานในระดับความดัน ความเร็ว และอุณหภูมิของเหลวปกติทั่วไปต้องเชื่อฟังว่างั้นเถอะ คือเมื่อของเหลวมีความเร็วสูงขึ้นจะส่งผลให้ความดันภายในท่อตำแหน่งดังกล่าวมีความดันลดลงดังนั้นเราจึงต้องควบคุมไม่ให้ความดันที่ลดลงเนื่องจากความเร็วของเหลวเพิ่มสูงดังกล่าวนั้นต้องไม่ทำให้ความดัน ณ ตำแหน่งนั้นมีค่าต่ำกว่าความดันไอของของเหลวชนิดนั้นๆอย่างเด็ดขาดหรือแม้แต่จะมีค่าเฉียดเข้าใกล้ค่าความดันไอของของเหลวชนิดนั้นเพราะมันจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ Cavitation คือของเหลวกลายเป็นไอ   ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ในบริเวณดังกล่าวเสียหายได้ รวมถึงระบบการวัดปริมาตรของเหลวได้รับผลกระทบตามมาเนื่องจากปรากฎการณ์ดังกล่าวไปทำลายวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ในระบบท่อทั้งหมดของระบบการวัดปริมาตรของเหลวต้องมีเพียงแต่สถานะของเหลวสถานะเดียวเท่านั้นหรือที่เรียกว่า Single Phase (Liquid)  แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่ปล่อยให้อัตราการไหลของเหลวไหลภายในท่อช้าๆๆๆ จนไม่ต้องทำมาหากิน ขาดทุน!!!...แน่นอน 
 
รูปที่ 4   ความเร็วของเหลวแนะนำภายในระบบท่อของระบบการวัดปริมาตรของเหลว
 
รูปที่ 5   ความเร็วของเหลวภายในท่อ Sch 40 ของระบบการวัดปริมาตรของเหลวผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพื่อป้องกัน Static, Lightning, and Stray Currents ตาม API RECOMMENDED PRACTICE 2003, Protection Against Ignitions Arising Out of Static, Lightning, and Stray Currents, 2008
รูปที่ 6   ตัวอย่างอัตราการไหลออกแบบของระบบการวัดปริมาตรของเหลวในแต่ละกิจกรรม
 
 
               สำหรับเรื่อง Velocity Profile ของของเหลวภายในระบบท่อก็คงไล่เรียงกันมาสวยงามดีแต่เมื่อทันทีที่ของเหลวเข้า Strainer Air Eliminator แล้ว Velocity Profile ไม่เละไม่ต้องพูดถึง  แต่บังเอิญมาตรวัดปริมาตรของเหลวที่มีหลักการทำงานแบบ Positive Displacement Flowmeter  นั้นไม่สนใจ Velocity Profile ของของเหลวภายในท่อ  แต่ถ้าหากมาตรวัดปริมาตรของเหลวที่มีหลักการทำงาน Turbine Flowmeter นั้นนะเค้าต้องการความละเมียดละไมของ Velocity Profile ของเหลวภายในท่ออย่างมากมาย
3.         ตัวต่อมาคือ Pressure Relief Valve (PRV) ; PRV 102 หรือน่าจะเรียกว่า Thermal Expansion Valve  เท่าที่ทราบหลักการทำงานของอุปกรณ์ชนิดนี้จะทำงานคล้ายคลึงกับ Safety Valve หรือ Pressure Relief Valve ที่ใช้ในระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความดันรวดเร็วทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ในบริเวณใกล้เคียงหรืออุปกรณ์ที่เราไปติดตั้ง Safety Valve เช่น พวกถังความดัน (Pressure Vessels)  เป็นต้น   ซึ่งในการทำงานจะมีขีดความสามารถในการปลดปล่อยของเหลวหรือไอออกไปจากระบบได้คราวละปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับ Safety Valve  ดังนั้นส่วนใหญ่เราจะติดตั้ง Thermal Expansion Valve ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า Safety Valve เข้ากับระบบที่ระบายความดันในระบบท่อคราวละเล็กเพียงละน้อย เช่นในระบบท่อของเหลวปิโตรเลียมที่มีความยาวอีกทั้งท่อส่วนใหญ่โดนแสงแดดจัดตลอดเวลากลางวัน  ส่งผลให้ของเหลวภายในระบบท่อจะค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิและความดันสูงขึ้นตามมาดังนั้นเพื่อป้องกันวาล์วเสียหายหรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น Pressure Gauge เสียหาย  เราจึงติดตั้ง Thermal Expansion Valve  ไว้ในระบบท่อเพื่อให้ระบายของเหลวในระบบท่อไหลกลับถังเก็บของเหลวหรือแหล่งที่รองรับความดันได้เป็นต้น  เช่น ติดตั้ง Thermal Expansion Valve คร่อมวาล์ทางออกถังสำรองของเหลวปิโตรเลียมเพื่อให้ระบายของเหลวกลับเข้าถังเก็บสำรองฯ ได้ (ดูรูปที่ 16.4)    แต่ที่เห็นในรูปที่ 2.1    พบว่าความยาวของท่อก็สั้นและท่อก็อยู่ในร่มเงา   จึงไม่น่าติดตั้ง Pressure Relief Valve (PRV) ; PRV 102  (ซึ่งเข้าใจว่าเป็น Thermal Expansion Valve)  แต่เมื่อติดตั้งแล้วก็ไม่น่าเสียหาย เพราะ Ball Valve ขนาด 10 นิ้วอาจรั่วซึมขณะที่ Double Block and Bleed Valve ปิดอยู่ก็อาจเป็นไปได้  แต่อย่างไรก็ต้องคอยเก็บกวาดของเหลวซึ่งท่อต่อไปรวบรวมไว้ที่ถังใดถังหนึ่งเพื่อดูดของเหลวดังกล่าวกลับไปใช้งานต่อไปก็เท่านั้น   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหวังว่าน้ำมันดังกล่าวยังคง On Specification อยู่นะเดี๋ยวเครื่องยนต์ดับ?
 
 
รูปที่ 7   Pressure Relief Valve : ลิ้นวาล์วจะยกขึ้นปล่อยของเหลวออกไป เมื่อแรงดันของเหลวสูงกว่าแรงกดสปริงที่ตั้งค่าไว้
 
 
 
        
 
         เมื่อเราดูในรูปข้างบนแล้วไล่ระบบท่อตามมาจากประเด็นที่ 1 เราจะเจอ Double Block and Bleed Valves (DBB) หมายเลข 101 (DBB 101) ประกบตบท้ายด้วย Ball Valve (BV 106) เพื่อสร้างความมั่นใจยกระดับขึ้นเป็นจาก Double เป็น Triple Block Valve อีกตัวหนึ่ง? ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งนี้ผู้ออกแบบหรือผู้ใช้งานคงจะมีประสบการณ์จากการทำงานจริงที่ Double Block and Bleed Valves เคยรั่วมา ? ถือเป็นการออกแบบที่มี Safety Factor สูงไปบ้างก็ถือว่ายอมรับได้ถ้าผู้ใช้งานยอมรับได้และเกิดความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น แล้วเราจะตรวจสอบระหว่าง Double Block and Bleed Valve; DBB 101 กับ BV 106 หากรั่วอย่างไร? 
 
 
รูปที่ 8.1  การแยกโหมดการทำงานด้วย Double Vale หรือ Block and Bleed Valve ?
 
          การตัดแยกแต่ละโหมดการทำงานให้อิสระออกจากกันอย่างชัดเจนด้วย Double Block and Bleed Valves (DBB) ถือเป็นการออกแบบที่อยู่ในข่ายการปฏิบัติงานทางด้านชั่งตวงวัดที่ดีซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสาร OIML Recommendation 120  ตามรูปที่ 8.2 ถือว่าดีครับ
 
รูปที่ 8.2 การแยกการทำงานทั้ง 3 โหมดด้วย Double Vale หรือ Block and Bleed Valve (โหมดที่ 1 สอบเทียบมาตรวัดปริมาตรของเหลวเทียบกับแบบมาตรา “ถังตวงแบบมาตรา (Prover Tank)” โหมดที่ 2 จ่ายของเหลวลงรถยนต์ รถไฟ เรือ และโหมดที่ 3 การบริหารถังสำรองของเหลวในบริเวณเดียวกัน)
 
ดูรูปที่ 8.2 จาก OIML R120 ได้แนะนำให้ใช้ Double Vale หรือ Block and Bleed Valve ซึ่งข้อมูลจาก API Specification 6D Specification for Pipeline and Piping Valves, 2015 พบว่า Isolation Valve แบ่งออกได้
ก.             Block and Bleed; BB  (Pressure Source + Open End/Equipment) เพื่อแยกระบบทางด้านต้นน้ำ (Upstream) ของวาล์วมีความดัน ในขณะด้านท้ายน้ำของวาล์ว (Downstream) เป็นท่อปลายเปิดสู่บรรยากาศหรือปล่อยเข้าสู่อุปกรณ์ทางด้านท้ายน้ำ ดูรูปที่ 9
 
รูปที่ 9 Block and Bleed; BB
 
ข.             Double Block and Bleed; DBB (Pressure Source + Pressure Source) เพื่อแยกระบบทางด้านต้นน้ำ (Upstream) ของวาล์วมีความดัน และด้านท้ายน้ำของวาล์ว (Downstream) มีความดันเช่นกัน ดูรูปที่ 10   โดยมีวาล์วที่อยู่ระหว่างวาล์วรับความดันต้นน้ำและความดันปลายน้ำเรียกว่า Bleed Valve ทำหน้าที่ใช้ตรวจสอบว่ามีของไหลไหลรั่วไหลผ่านวาล์วทั้ง 2 หรือไม่ 
 

                          

รูปที่ 10 Double Block and Bleed; DBB
 
ค.             Double Isolation and Bleed; DIB (Pressure Source + Open End/Equipment) เพื่อแยกระบบทางด้านต้นน้ำ (Upstream) ของวาล์วมีความดัน ในขณะด้านท้ายน้ำของวาล์ว (Downstream) เป็นท่อปลายเปิดสู่บรรยากาศหรือปล่อยเข้าสู่อุปกรณ์ทางด้านท้ายน้ำ ดูรูปที่ 11   ส่วนตัวเมื่อดูรูปก็พอเห็นความแตกต่างได้เล็กน้อยลึกๆแล้วเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบชัดเจน ศึกษาต่อไปอีกทีนะ
 
รูปที่ 11 Double Isolation and Bleed; DIB
 
          ดูรูปที่ 8.2 จาก OIML R120 จึงน่าจะเป็น Double Block and Bleed; DBB หรือ Double Isolation and Bleed; DIB ดังนั้นก่อนตัดสินใจใช้ Isolation Valve ชนิดใดก็ขอให้ศึกษาให้แน่ใจก่อนเพื่อประกันว่าของเหลวทุกหยดที่ไหลออกจากมาตรวัดปริมาตรของเหลวที่ต้องการทดสอบได้ไหลไปยังแบบมาตราทั้งหมด ต้องไม่ไหลไปในทิศทางใดได้หากต้องการทำงานในโหมดสอบเทียบมาตรวัดปริมาตรของเหลวด้วยถังตวงแบบมาตรา (Prover Tank) โหมดที่ 1
 
 
ประเด็นที่ 3: ตำแหน่ง Digital Control Valve หรือ Pressure Control Valve ในระบบการวัดปริมาตรของเหลว
 
 
โดยทั่วไปแล้ว Control Valve ทำหน้าที่หลักคือ “ควบคุมปริมาตรของเหลว” และ “ลดพลังงานความดันของเหลว” ซึ่งจากรูป PI Diagram ข้างบนนั้นเราจะพบว่าได้ทำการติดตั้ง Pressure Control Valve ขนาด 4 นิ้วหมายเลข PCV 101 ถัดมาจาก Ball Valve และ Double Block and Bleed; DBB  เท่าที่ทราบและเห็นจากรูปร่างหน้าตา (ดูรูปที่ 2.1 ถึงรูปที่ 2.3) แล้วน่าจะมีชื่อเรียกเล่นๆ อีกชื่อว่า “Digital Control Valve” เพื่อใช้ควบคุมการจ่ายของเหลวคราวละจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า “Batch Volume” โดยขอตั้งข้อสังเกตว่าตำแหน่งติดตั้ง PCV 101 ดังกล่าวอยู่ทางด้าน Upstream เมื่อเทียบกับมาตรวัดปริมาตรของเหลวขนาด 4 นิ้ว หมายเลข FE102 ซึ่งมีอัตราการไหลสูงสุด 120 m3/h ( 2,500 l/m)
          Pressure Control Valve หรือ Digital Control Valve หมายเลข PCV 101 หน้าตาก็เป็น Control Valve รูปแบบหนึ่งดังในรูปที่ 12 และมีหลักการทำงานโดยทั่วไปดังในรูปที่ 13.1 และรูปที่ 13.2  (เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ) ดังนั้นเพื่อให้สามารถทำการจ่ายของเหลวคราวละปริมาตรหนึ่งที่มีค่าคงที่แน่นอนด้วยลักษณะการทำงานความสัมพันธ์เวลากับอัตราการไหลของเหลวดังในรูปที่ 14 ซึ่งรูปแบบการทำงานดังกล่าวนิยมใช้งานกับการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงลงสู่รถยนต์บรรทุกน้ำมัน (Truck Loading) ทั้งนี้ก็เพราะถังบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงบนรถยนต์บรรทุกที่เราเห็นถังเดียวๆใหญ่ๆ ที่อยู่บนหลังรถยนต์บรรทุกนั้นจริงๆแล้วภายในถังใบใหญ่ดังกล่าวถูกแบ่งย่อยออกเป็นห้องๆ (Compartments) แต่ละห้องจะมีความจุ 3,000 ลิตร หรือ 4,000ลิตร หรือ 5,000 ลิตร (ดูรูปที่ 15) ก็สุดแล้วแต่ผู้ออกแบบภายใต้เงื่อนไขว่าจะบรรทุกของเหลวปิโตรเลียมใดและบรรทุกอย่างไรแล้วปลอดภัยจากเงื่อนไขต่างๆ เช่น การเกิดไฟฟ้าสถิต หรือรองรับ Vapor Pressure มากน้อยเพียงใดขณะขนส่ง เป็นต้น   ด้วยเหตุนี้จึงต้องออกแบบให้ระบบจ่ายน้ำมันที่ Truck Loading ทำการจ่ายคราวละ (Batch) ตามความจุของแต่ละ Compartments นั้นๆ มันก็เท่านั้นเอง
                               
รูปที่ 12 Pressure Control Valve หรือ Digital Control Valve
 
Close Position
Open Position
 
Control Position
รูปที่ 13.1 ตัวอย่างการทำงานของ Digital Control Valve ในการควบคุมการจ่ายที่ Batch Quantity หนึ่ง
รูปที่ 13.2 ตัวอย่างการทำงานของ Digital Control Valve ในการควบคุมการจ่ายที่ Batch Quantity หนึ่ง
 
                                                  
รูปที่ 14 รูปแบบการจ่ายปริมาตรของเหลว ภายใต้การทำงานควบคุมการจ่ายที่ Batch Quantity หนึ่งโดย Digital Control Valve
 
รูปที่ 15 ตัวอย่างการแบ่ง Compartments ภายในถังบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง
 
 
          พิจารณาต่อไปถึงองค์ประกอบของระบบการวัดปริมาตรของเหลวและตำแหน่งการจัดเรียงลำดับของมาตรวัดปริมาตรของเหลวรวมทั้งอุปกรณ์ควบ (Ancillary Device) และ อุปกรณ์เสริม (Additional Device) แล้ว เอาที่สำคัญๆ ก็ได้ดังในรูปที่ 16
 
  
 
 
รูปที่ 16 ระบบการวัดปริมาตรของเหลวโดยทั่วไป 
 
          เราก็จะเห็นถึงองค์ประกอบและการจัดเรียงมาตรวัดปริมาตรของเหลวและอุปกรณ์ควบ (Ancillary Device) และ อุปกรณ์เสริม (Additional Device) โดยเฉพาะสำหรับ Truck Loading ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่เรากำลังสนใจอยู่นี้  จะพบดังในรูปที่ 16 และรูปที่ 17.1 ถึงรูปที่ 17.4  เราจะเห็นทันทีว่าตำแหน่ง Pressure Control Valve หรือ Control Valve หรือ Digital Control Valve (แหมมันมีหลายชื่อจังเริ่มเรียกไม่ถูกอยู่เหมือนกัน) จะอยู่ด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลวในระบบการวัดปริมาตรของเหลว   ซึ่ง Control Valve ดังกล่าวทำหน้าที่หลักคือ “ควบคุมปริมาตรของเหลว” และ “ลดความดันของเหลว” แต่จะเด่นในเรื่องใดมากน้อยก็ว่ากันไปตามการออกแบบการใช้งานแต่ที่แน่ๆ หน้าที่หนึ่งของ Control Valve ต้องมีคือหากเมื่อลดความดันของเหลวแล้วต้องยังคงรักษาความดันของเหลวด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลวหรือที่เรียกว่า “Back Pressure” ให้มีค่าสูงกว่าความดันไอของเหลวที่ทำการวัดบวกกับ Safety Factor ซึ่งสามารถคำนวณได้ สามารถกลับไปอ่านในบทความก่อนหน้าย้อนกลับไป เรื่อง Back Pressure แต่ไม่รู้อยู่ในบทความไหนไปหาเอาเองถ้ามีวาสนาต่อกันก็คงหากันเจอ ฮ่าๆๆ
 
รูปที่ 17.1 ระบบการวัดปริมาตรของเหลวจาก API MPMS Chapter 6.2 Loading Rack Metering Systems, 2004 (Top Loading)
รูปที่ 17.2 ระบบการวัดปริมาตรของเหลวจาก API MPMS Chapter 6.2 Loading Rack Metering Systems, 2004 (Bottom Loading)
 
รูปที่ 17.3 ระบบการวัดปริมาตรของเหลวจาก API MPMS Chapter 6.2 Loading Rack Metering Systems, 2004 (PD Flowmeter)
 
 
รูปที่ 17.4 ตัวอย่างการอุปกรณ์หลักๆ ในระบบ Truck Loading
 
 
รูปที่ 17.5  Lease Automatic Custody Transfer (LATC) System (API MPMS, Chapter 6.1)
 
 
 
 
รูปที่ 17.6 ตำแหน่งแบบมาตรา “Compact Prover” อยู่ด้านท้ายน้ำเมื่อเทียบกับมาตรวัดปริมาตรของเหลวที่ระบุใน API MPMS Chapter 5 ใน LACT และด้านท้ายน้ำเลยไปเป็น Control Valve และ Check Valve
 
          เมื่อดู PI Diagram แล้วลองทำการทดลองการทำงาน Control Valve ในจินตนาการดูสิครับ หาก Control Valve ถูกติดตั้งในตำแหน่งด้านทางเข้ามาตรวัดปริมาตรของเหลวเมื่อเราสั่งให้ Control Valve เปิดวาล์ว  ของเหลวไหลเข้ามาตรวัดปริมาตรของเหลว (เออแล้วในขณะนั้นจะมีของเหลวในตัวมาตรวัดหรือเปล่า? ก็ยังสงสัยอยู่?) หลังจากนั้นเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งเราสั่ง Control Valve ปิด ของเหลวหลังตัววาล์วปิดจะยังคงมีแรงเฉื่อยไหลต่อไปยังมาตรวัดปริมาตรของเหลวหากยังไม่มีวาล์วใดๆหลังมาตรวัดปริมาตรของเหลวปิด ส่งผลให้มาตรวัดปริมาตรของเหลวทำการวัดต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่งและบันทึกผลการวัดปริมาตร จนกว่าของเหลวหมดแรงเฉื่อยหรือมีแรงเฉื่อยไม่พอที่จะไปขับส่วนวัดปริมาตรของมาตรวัด!!!   การออกแบบควบคุมการทำงานระบบแบบนี้ถือเป็นระบบที่ไม่มี Feedback Control เอาเสียเลย ปล่อยให้ทำงานไปเรื่อย ๆ แล้วมันจะเหมาะสมหรือกับวงการปิโตรเลียม?    เราทิ้งไว้เพียงแค่นี้ก่อนเพราะยังต้องตามไปดูว่ามีอุปกรณ์ใดได้ติดตั้งด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลว ซึ่งอาจแก้ไขปัญหานี้ก็ได้ หรือรักษาสภาวะเริ่มต้นของมาตรวัดปริมาตรของเหลวให้คงที่ทุกครั้งที่เริ่มจ่ายของเหลวออกไปผ่านมาตรวัดฯ เช่น ภาวะของเหลวเต็มท่อทางเข้าออกมาตรวัดปริมาตรของเหลว, ความดันที่มาตรวัดปริมาตรของเหลวยังมีค่า? เป็นต้น
          นอกจากนี้ควรเดินท่อ Bypass ตัว Control Valve ซึ่งเป็นไปตามแนะนำหรือปรากฏในเอกสาร API ดังในรูปที่ 18 เพราะหากต้องถอด Control Valve ไปซ่อมหรือ Control Valve ทำงานไม่เป็นไปตามที่ต้องการเรายังสามารถใช้ระบบท่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ ขนานกับการแก้ไขปัญหาตัว Control Valve ตัวดังกล่าวไปพร้อมๆกันไป แต่เมื่อกลับดู PI Diagram แล้วมันแปลกๆ หากต้องการถอด Control Valve ไปซ่อมสงสัยต้องทำ Spool Piece Pipe มาใส่ทดแทนระยะตัว Control Valve ที่ถอดไป?? พร้อมติดตั้ง Ball Valve สักตัวดีมั๊ย?  วาล์ว Bypass มีไว้ช่วยบางสถานการณ์?
 
รูปที่ 18 การติดตั้ง Control Valve ในเอกสาร API RECOMMENDED PRACTICE 553 - 2012 Refinery Valves and Accessories for Control and Safety Instrumented Systems
 
 
ประเด็นที่ 4: มาตรวัดปริมาตรของเหลวและอุปกรณ์ควบ (Ancillary Device) ได้แก่ Strainer, A/E, Check Valve และ อุปกรณ์เสริม (Additional Device)  
 
       
   พิจารณาต่อจากประเด็นที่ 3 ไล่ไปตามแนวท่อใน PI Diagram ข้างบนนะ ถัดจาก Pressure Control Valve PVC 101 เราพบว่าได้มีการนำอุปกรณ์ที่รวมเอาการทำงานทั้งเป็นตัวกรอง (Strainer) กับตัวกำจัดอากาศ (Air Eliminator หรือ Gas Separator) เข้าด้วยกันภายในตัวเดียวกันที่ปรากฏใน PI Diagram ข้างบนคือหมายเลข STR 101 (ดูรูปที่ 2.2) ซึ่งผู้ผลิตอาจเรียกว่า “Strainer Air Eliminator” (ดูรูปที่ 19)  ก็ว่ากันไป   ส่วนการเลือกขนาดใหญ่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับเจ้าของผู้ออกแบบมาตรวัดปริมาตรของเหลวว่าทำการจับคู่แล้วแน่ใจว่าที่อัตราการไหลใดๆ ที่ใช้งานนั้นสามารถกำจัดไอของเหลวหรืออากาศสุดแท้ที่เราจะถกเถียง แต่ที่แน่ๆ คือต้องกำจัดสิ่งที่มีสถานะก๊าซออกจากสิ่งที่มีสถานะของเหลวที่อยู่ภายในระบบท่อได้เพียงพอตามที่ต้องการ ส่วนเท่าใดนั้นให้ถือเอาตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ที่ใช้บังคับกับระบบการวัดปริมาตรของเหลวหรือถ้าไม่ชัดเจนสามารถไปอ่านได้ในเอกสาร OIML R117 เราไม่มั่วหรือคิดเอาเองหรือพูดเอาเองนะ เดี๋ยวนี้ใครพูดมั่วมันตรวจสอบกันได้ง่ายๆ รวดเร็วๆ ชัดเจน เชื่อเถอะ สำหรับตำแหน่งติดตั้ง Strainer Air Eliminator ติดชิดกับมาตรวัดปริมาตรของเหลวชนิด Positive Displacement Flowmeter ถือว่ายอมรับได้ แต่หากเป็นมาตรวัดที่มีหลักการทำงานต่างออกไป ต้องทบทวนลักษณะและรูปแบบการติดตั้ง Strainer Air Eliminator ให้เหมาะสมกันต่อไป แต่ในที่นี้รูปแบบการติดตั้งเป็นไปตามผู้ผลิตออกแบบว่าอย่างนั้นเถอะ คือมี Strainer Air Eliminator ต่อจากนั้นเป็น PD Flowmeter ส่วนด้านทางออกก็ติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ทั้งควบคุมการปิดเปิดการไหลและ Check Valve ไปในตัวที่ผู้ผลิตเรียกว่า The Stop Valve or Multifunction Valve (ดูรูปที่ 20) ซึงไม่มีข้อมูลปรากฏใน PI Diagram อันนี้ต้องดูภาคสนามจริงๆ?
 
 
                          
รูปที่ 19 ตัวอย่างติดตั้ง Strainer Air Eliminator ก่อนทางเข้าและ The Stop Valve or Multifunction Valve ด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลว
 
รูปที่ 20 ตัวอย่าง The Stop Valve or Multifunction Valve
 
          เอาละสิครับในระบบ PI Diagram เมื่อเทียบกับการติดตั้งอุปกรณ์ของจริงมาแล้วครับ มันดันต่างกันแล้วครับแล้วเริ่มมีข้อมูลเพิ่มเข้ามาต้องพิจารณามากขึ้นแล้วสิ  ดังนั้นต้องเริ่มดูให้รอบคอบต่อไปนั้นคือเราพบว่าหน้างานระบบของจริงได้นำและติดตั้ง The Stop Valve or Multifunction Valve ด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลว จึงเกิดคำถามขึ้นมาในใจทันทีก็คือในระบบฯมีทั้ง Digital Control Valve ซึ่งติดตั้งก่อนทางเข้ามาตรวัดปริมาตรของเหลวจากนั้นมีการติดตั้ง The Stop Valve or Multifunction Valve ด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลวซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวทำหน้าที่ทั้งเป็นวาล์วปิด-เปิดรวมทั้งเป็น Check Valve (มันทำหน้าที่หลายหน้าที่จริงๆสิผับผ้า)   ดังนั้นระบบควบคุมการทำงาน ได้กำหนดให้ควบคุมการจ่ายของเหลวในแต่ละครั้งหรือ Batch Control อย่างไร จะผสมผสานกันอย่างไรน่าสนใจ จะเขียนระบบให้สั่งการปิด-เปิดวาล์วทั้ง Digital Control Valve และ The Stop Valve or Multifunction Valve พร้อมกันหรือเหลื่อมกันก็เป็นเรื่องน่าสนใจ
          ส่วนการติดตั้ง The Stop Valve or Multifunction Valve  (ดูรูปที่ 19 และรูปที่ 20) ด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลว  ซึ่งทำหน้าที่หลายหน้าที่รวมทั้งทำหน้าที่เป็น Check Valve ก็ถือว่าเป็นไปตาม “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดปริมาตรของเหลว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และอายุคารับรอง พ.ศ. 2562 ข้อ 15 (2)”  หาอ่านเองนะ   อีกทั้งป้องกันการเกิด Water Hammer ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับมาตรวัดปริมาตรของเหลว (Flowmeter FE 102)  ได้หากติดตั้ง Digital Control Valve ด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลว (ดูรูปที่ 2.2, รูปที่ 12 และรูปที่ 13)  ในขณะเดียวกันหากติดตั้ง Digital Control Valve ด้านทางเข้ามาตรวัดปริมาตรของเหลวในขณะที่ติดตั้ง The Stop Valve or Multifunction Valve  ติดกับทางออกของมาตรวัดปริมาตรของเหลว  ไม่ว่ากรณีใดๆที่วาล์วทั้ง 2  ปิดเปิดไม่พร้อมกันล้วนทำให้มาตรวัดปริมาตรของเหลว (Flowmeter FE 102)  อยู่ท่ามกลางปรากฎการณ์ Water Hammer    มาตรวัดปริมาตรของเหลวมันจะอายุยืนยาว?   ยังเป็นเรื่องที่ต้องกังวลจริงๆ 
         แต่ถ้าเราไม่คิดอะไรซับซ้อนมาก ก็ดูที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือปั๊มน้ำมันรถที่เราเข้าไปเติมกันนั่นแหละครับ เราจะเห็นหัวจ่ายที่มีลักษณะเป็นปืนที่เด็กปั๊มยกขึ้นมาจากตู้จ่ายแล้วเอาปลายปืน (หัวจ่าย) ทิ่มลงปากถังน้ำมันรถยนต์เรานั้นแหละ   ไอ้ปืนที่ว่ามันคือวาล์วปิดเปิดการจ่ายน้ำมันรวมทั้งหากมีน้ำมันล้นมาถึงปลายหัวจ่ายมันจะปิดวาล์วจ่ายทันทีถือเป็นการจ่ายปริมาตรจำนวนหนึ่ง (Batch Volume) นั้นเอง   แล้วเราจะไปติดตั้ง Digital Control Valve  ก่อนทางเข้ามาตรวัดปริมาตรของเหลวกันทำไม? แล้วไปใช้ Ball Valve BV101 และ BV102 แทนกระนั้นหรือ? อันนี้ต้องรอถามผู้ออกแบบว่ากำหนด Operation Instruction ของระบบที่ออกแบบกันอย่างไรแล้วค่อยว่ากันอีกที แต่อย่างไรก็ตามยังขอยืนยันว่าควรติดตั้ง Control Valve ด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลวในการควบคุมการจ่ายของเหลวน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ดีตามเอกสารอ้างอิงในรูปที่ยกมาดังรูปที่ 16 และรูปที่ 17 ข้างบน
สำหรับการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิและเครื่องวัดความดันประจำมาตรวัดปริมาตรของเหลวก็มีความสำคัญดังรูปที่ 17.3   เนื่องจากเราต้องนำค่าอุณหภูมิและค่าความดันของเหลวปิโตรเลียมรวมทั้งค่าปริมาตรของเหลวปิโตรเลียมวัดได้ที่สภาวะทำงาน (Operating Condition) ไปปรับแก้ไขค่าไปยังค่าปริมาตรของเหลวที่สภาวะพื้นฐานหรือสภาวะอ้างอิง (Reference Condition) ส่วนจะคำนวณอย่างไรตามไปอ่านในหนังสือ “การคำนวณผลการสอบเทียบทางด้านปริมาตร (ฉบับปรับปรุง)” ของสำนักงานกลางชั่งตวงวัด   ซึ่งสำนักงานกลางชั่งตวงวัด  แต่เราพบว่าระบบการวัดปริมาตรของเหลวที่เรากำลังพิจารณาอยู่ ยังไม่มีการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิและความดันในตำแหน่งที่คาดว่าเหมาะสม
          ส่วนที่สำคัญและเป็นหัวใจของระบบการวัดปริมาตรของเหลวนั้นคือ “มาตรวัดปริมาตรของเหลว” ที่เลือกใช้นั้นเหมาะสมกับงานชั่งตวงวัดหรือไม่? มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดในชั้นความเที่ยง 0.5 ? มีค่า Linearity ไม่เกิน 0.5%, การทำงานร่วมกันของส่วนวัดค่า ส่วนประมวลผล ส่วนแสดงค่าสอดรับกันหรือไม่  และอื่นๆ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดปริมาตรของเหลว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และอายุคารับรอง พ.ศ. 2562 ? ซึ่งเป็นกฎหมายอยู่บนมาตรฐานอ้างอิงฉบับหลักคือ OIML R117 นั้นเอง   โปรดทราบ....
 
 
ประเด็นที่ 5: เมื่อของเหลวผ่านมาตรวัดปริมาตรของเหลวแล้วต้องส่งออกไปยังปลายทางเท่านั้น ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดปริมาตรของเหลว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดและอายุคารับรอง พ.ศ. 2562 ข้อ 17 (1) ต้องไม่ทำให้ของเหลวที่วัดปริมาตรแล้วเกิดการเบี่ยงเบนออกจากห้องวัด หรือท่อส่งจ่ายได้  การติดตั้ง PRV 101 จึงต้องถูกพิจารณา
 
 
          ไล่ PI Diagram ต่อมาจากประเด็นที่ 4 ต่อนะ    การติดตั้ง Pressure Relief Valve หมายเลข PRV 101 บริเวณด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลว (ดูรูปที่ 2.3) ถือว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ของเหลวที่วัดปริมาตรแล้วด้วยมาตรวัดปริมาตรของเหลวเกิดการเบี่ยงเบนออกจากห้องวัด หรือท่อส่งจ่ายได้  (ในขณะเดียวกันการติดตั้ง Pressure Relief Valve หมายเลข PRV 102 บริเวณทางเข้ามาตรวัดปริมาตรของเหลวก็ให้ผลที่ต้องพิจารณา?)  เป็นที่ทราบกันว่าในสังคมนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดี เราไม่ทราบได้หากเจอคนดีก็ดีไปหากเจอพวกคนไม่ดีหน่อยก็ตั้ง Spring บนหัว Pressure Relief Valve ให้อ่อนลงนิดเผื่อวาล์วมันขยับเปิดของเหลวในช่วงอัตราการไหลต่ำขณะที่มีความดันในท่อสูงจะได้ไหลกลับเข้ากระเป๋าตัง!!!.... ครับ   เพราะปริมาตรซื้อขายถูกวัดไปแล้วแต่จ่ายของเหลวไม่ครบตามปริมาตรที่วัดได้ส่วนใครจะขาดทุนหรือกำไรค่อยว่ากัน   ดังนั้นการติดตั้ง Pressure Relief Valve (PRV 101) ด้านทางออกมาตรวัดปริมาตรของเหลวขัดต่อข้อกำหนดในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ต้องทำการแก้ไขเอาอุปกรณ์ Pressure Relief Valve หมายเลข PRV 101 ออกไปครับ  ถ้าหากเราตีความว่าระบบการวัดปริมาตรของเหลวดังกล่าวอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนหลักการทาง Engineering เพื่อป้องกันหรือระบายความดันที่ถูกกักอยู่ระหว่างวาล์วด้วยการใช้ Pressure Relief Valve ทำหน้าที่ระบายออกไปนั้นถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ในบริเวณหลังตัวมาตรวัดปริมาตรของเหลวเรื่องนี้ต้องถูกยกเลิกไปจากเหตุผลหลักคือ “ของเหลวที่วัดปริมาตรแล้วด้วยมาตรวัดปริมาตรของเหลวต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนออกจากห้องวัด หรือท่อส่งจ่ายได้” ซึ่งต้องออกแบบใหม่ครับ
 
   
 
          ส่วนอื่นๆ เช่นที่ Loading Arms ควรมี Vacuum Breakers หรือไม่อย่างไรนั้นไม่ทราบได้เพราะไม่มีรูปให้ดูและใน PI Diagram ก็มองไม่เห็น    ที่สำคัญอีกเรื่องที่ยังไม่อยากพูดนั้นคือการ Matching ระหว่างส่วนประมวลผลและส่วนแสดงค่า กับ ตัวส่วนวัดปริมาตรหรือตัวมาตรวัด (ดูรูปที่ 2.2) เพราะทั้ง 2 ส่วนมาจากต่างผู้ผลิตทั้งๆที่ผู้ผลิตตัวมาตรวัดเองก็มี Pulse Transmitter กับส่วนประมวลผลและส่วนแสดงค่า แต่ไม่ทราบทำไมจึงไม่เลือกใช้ Pulse Transmitter กับส่วนประมวลผลและส่วนแสดงค่า ให้เป็นยี่ห้อเดียวกันกับตัวมาตรวัด  แต่กลับไปเลือกใช้ต่างยี่ห้อออกไปซึ่งเป็นยี่ห้อที่ไม่มี Audit Trail?????     ดังนั้นต้องได้รับการชี้แจงตามเหตุอันควรบนพื้นฐานหลัก Engineering หากเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง   แต่หากไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้อง...ก็ว่ากันไป........ 
          เอาเท่านี้ก่อนครับ ........................จบ................. สาธุ
 
 
 
 
ชั่งตวงวัด; GOM MOC
นนทบุรี
25 พฤษภาคม 2565

 

 



จำนวนผู้เข้าชม : 1654