สาระน่ารู้ ชั่งตวงวัด

จากกระทรวงพาณิชย์....สู่....กระทรวงพาณิชย์ เท่าที่ค้นเจอ

 

 จากกระทรวงพาณิชย์....สู่....กระทรวงพาณิชย์    เท่าที่ค้นเจอ

 
 
          เนื่องจากที่ผ่านมาได้เขียนเรื่อง “ประวัติการชั่งตวงวัดในประเทศสยาม - ประเทศไทย (ฉบับปรับปรุง)” ใน www.cbwmthai.org พบว่ามันหงุดหงิดใจพอสมควรเมื่อพบว่าเดี๋ยวมีชื่อ “กระทรวงเกษตรพาณิชยการ”, “กระทรวงเศรษฐการ”, “กระทรวงพาณิชย์” และ ฯลฯ ขึ้นมาให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดความสับสนมึนงง   เลยพยายามสืบเสาะค้นหา โชคดีที่มี Internet เลยพอได้ข้อมูลในระดับหนึ่งจึงขอสรุปไว้เป็นตัวตุ๊กตาสำหรับให้คนต่อมาที่มีข้อมูลชัดเจนถูกต้องกว่ามาแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปน่ะครับ    ว่าแล้วเราก็ขอเดินเรื่องเลยน่ะครับ
 
พ.ศ. 2432
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปราชการบริหารส่วนกลางเสียใหม่ตามแบบอย่างอารยประเทศ โดยจัดจำแนกราชการเป็นกรมกองต่าง ๆ มีหน้าที่เป็นหมวดเหล่า ไม่ก้าวก่ายกัน โดยได้มีการจัดตั้ง กรมโยธาธิการ ขึ้น   โดยเฉพาะกรมโยธาธิการที่จะสถาปนาเป็นกรมขึ้นก็เพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า การช่าง ได้แยกย้ายกันอยู่ในกรมต่าง ๆ ไม่รวมอยู่เป็นหมวดหมู่ด้วยกัน จึงมีประกาศพระบรมราชโองการตั้งกรมโยธาธิการขึ้น เมื่อ ร.ศ.108 (พ.ศ.2432)   ครั้นในปี ร.ศ.109 (พ.ศ.2433) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมการโยธาต่าง ๆ ที่อยู่ในกระทรวงต่าง ๆรวมทั้งการไปรษณีย์ โทรเลข และการรถไฟ มาตั้งเป็นกระทรวงโยธาธิการขึ้น โดยในขณะนั้น เริ่มมีการสร้างถนนตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือ ถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนสายแรกของประเทศไทย
 
พ.ศ. 2435
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Ministry of Agriculture and Cooperatives) ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในชื่อ กระทรวงเกษตรพานิชการ มีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ขณะมีบรรดาศักดิ์ที่พระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดีคนแรก
ต่อมาในปี 2435 จึงได้ยกฐานะกรมต่าง ๆขึ้นเป็นกระทรวง ทำให้ กรมโยธาธิการ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงโยธาธิการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ตามเดิม
 
พ.ศ. 2439
ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 ได้ยุบรวมกระทรวงเกษตรพานิชการเข้ากับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พร้อมกับลดฐานะลงเป็นกรม ๆ หนึ่ง    ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2442 มีพระบรมราชโองการแยกกรมเกษตรพานิชการออกมาตั้งเป็นกระทรวงใหม่ใช้ชื่อว่า กระทรวงเกษตราธิการ มีเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ขณะมีบรรดาศักดิ์ที่พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เป็นเสนาบดีคนแรก โดยใช้หอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ทำการชั่วคราว
 
        พ.ศ. 2454
         เมื่อปี พ.ศ. 2454  โดยกระทรวงเกษตราธิการในสมัยสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการได้แจ้งความจำนงไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อขอเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาเมตริก (The International Metric Convention) หรือรู้จักในนาม  “Treaty of the Metre”  และในปีถัดมา พ.ศ. 2455 (.. 1912)  ประเทศสยามจึงได้เป็นสมาชิก “Member States” ของอนุสัญญาระบบเมตริก และขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM) ที่ประเทศฝรั่งเศส
 
พ.ศ. 2455
ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามจาก กระทรวงโยธาธิการ เป็น กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2455 โดยมีอำนาจหน้าที่ ในการดูแลเกี่ยวกับ การขนส่งทางรถไฟ การขนส่งทางบก การขนส่งทางน้ำ และการสื่อสาร
 
 
พ.ศ. 2458

มีประกาศพระบรมราชโองการฯ ให้ตั้ง “กรมสถิติพยากรณ์” ขึ้นใน กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และมีประกาศแก้ไขชื่อเป็น “กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์” ในเวลาต่อมา

 

พ.ศ. 2463

ปี พ.ศ. 2463 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ตั้ง “สภาเผยแผ่พาณิชย์” ขึ้นและให้ยก “กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์” ขึ้นสู่สถานะแห่งกระทรวงอยู่ในบังคับบัญชาของ “ที่ประชุมสภาเผยแผ่พาณิชย์” โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทบุรีเป็น “นายกแห่งสภา”   

นับแต่มีประกาศบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2463 จึงถือว่ากระทรวงพาณิชย์ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2463 และถือว่าพระบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท เป็นองค์ปฐมนายกแห่งสภาเผยแผ่พาณิชย์และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสภาเผยแพร่พาณิชย์และกระทรวงพาณิชย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2463 นั้นก็โอนงาน "ชั่งตวงวัด" มาขึ้นกับสภาเผยแพร่พาณิชย์ 
           
ที่ทำการของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเริ่มก่อตั้งได้สร้างขึ้นบนที่ดินสามเหลี่ยมชายธง ด้านเหนือจรดเขตวัดพระเชตุพน ด้านตะวันออกจด ถ.สนามไชย ด้านตะวันตกจด ถ.มหาราช ซึ่งเดิมทีเป็นวัง 5 วัง ส่วนตัวตึกที่ทำการสร้างอยู่บนวัง 3 วัง คือ วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช วังกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ และวังกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ

ในวันที่ 20 ส.ค.2563 กระทรวงพาณิชย์จะมีอายุครบ 100 ปี

 

พ.ศ. 2466
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดตั้ง กรมทะเบียนการค้าขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดีเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2466 ขึ้นในกระทรวงพาณิชย์ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ อำมาตย์เอกพระโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เนติบัณฑิตอังกฤษ เป็นอธิบดีคนแรกของกรมทะเบียนการค้า มีหน้าที่รักษามาตราชั่งตวงวัด (ซึ่งก็คือ  งานด้านชั่งตวงวัดตามข้อกฎหมาย (Legal Metrology)) และรับจดทะเบียนการค้า
รูปที่ 1 ประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2466
 
 
       พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช 2466  มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2466   โดยมอบหมายให้เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าหน้าที่จัดการทั้งปวงตามพระราชบัญญัตินี้  ต่อมาภายหลังที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการตั้งกรมทะเบียนการค้า (กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปัจจุบัน) ขึ้นในกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2466   นั้นคือหลัง 3 ปีที่ก่อตั้งกระทรวงพาณิชย์ (วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2463)
 
 
กระทรวงเกษตรพาณิชยการ (พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2476)
ต่อมา เนื่องด้วยปัญหาสภาพเศรษฐกิจ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ต้องมีการตัดทอนส่วนราชการที่ซ้ำซ้อน เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงได้ยุบกระทรวงคมนาคม แล้วรวมเข้ากับกระทรวงพาณิชย์เป็น กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ในปี พ.ศ. 2475 
ต่อมาคณะกรรมการราษฎรจึงประกาศพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2475 ผลัดเปลี่ยนเสนาบดีเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ และรวมกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม มีความว่า
"ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตรกับกระทรวงพาณิชย์เวนคืนตำแหน่งให้รวมกระทรวงเกษตร กับกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน ที่เรียกว่า กระทรวงเกษตรพาณิชยการ ยกกรมทะเบียนที่ดิน กรมป่าไม้ กรมราชโลหกิจ ซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงเกษตราธิการเวลานี้ไปขึ้น กระทรวงมหาดไทย ให้มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาวงศาประพัทธ์เป็นเสนาบดี"
นั้นหมายถึงในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการยุบรวม "กระทรวงเกษตราธิการ" เข้ากับ "กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม"  ใช้ชื่อว่า "กระทรวงเกษตรพาณิชยการ"
 
 
กระทรวงเศรษฐการ (พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2484)
ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อและอำนาจหน้าที่จาก "กระทรวงเกษตรพาณิชยการ"  เป็น  "กระทรวงเศรษฐการ"
ใน พ.ศ. 2476 ได้มีการปรับปรุงระเบียบราชการบริหารขึ้นใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช 2476 ขึ้นไว้ โดยมีกระทรวงต่าง ๆ รวม 7 กระทรวง ดังนี้คือ.
1. กระทรวงกลาโหม
2. กระทรวงมหาดไทย
3. กระทรวงเศรษฐการ
4. กระทรวงยุติธรรม
5. กระทรวงพระคลัง
6. กระทรวงธรรมการ
7. กระทรวงการต่างประเทศ
ในการนี้มิใช่ว่ากิจการคมนาคมจะหายไป หรือรัฐบาลจะเลิกล้มกิจการคมนาคมตามนามกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการจัดการบริหารใหม่ แต่กิจการคมนาคมและการสื่อสารยังอยู่ในกระทรวงเศรษฐการอย่างครบถ้วน คือ การรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข และการเจ้าท่า ตามการแบ่งส่วนราชการบริหาร กระทรวงเศรษฐการซึ่งแบ่งออกเป็นดังนี้คือ.
1. กรมเลขานุการรัฐมนตรี
2. กรมปลัด
3. กรมเกษตร
4. กรมการประมง
5. กรมป่าไม้
6. กรมที่ดินและโลหกิจ
7. กรมชลประทาน
8. กรมพาณิชย์
9. กรมสหกรณ์
10. กรมรถไฟ
11. กรมไปรษณีย์โทรเลข
12. กรมเจ้าท่า
13. กรมวิทยาศาสตร์ 
 
 
จะเห็นได้ว่าชั่งตวงวัดเป็นองค์ระดับแผนก  คือ "แผนกมาตราชั่งตวงวัด" อยู่ภายใต้ กองทะเบียนพาณิชย์  กรมพาณิชย์  ดังในรูปที่ 2
 
 
 
รูปที่ 2 พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบกรมในกระทรวงเศรษฐการ พ.ศ. 2476
 
ใน พ.ศ. 2477 ต่อมาได้ตราพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม แก้ไข้เพิ่มเติม พ.ศ. 2477 ได้ปรับปรุงกระทรวงจากเดิม 7 กระทรวงเป็น 9 กระทรวง แต่ยังคงกระทรวงเศรษฐการ โดยกำหนดหน้าที่ใน กระทรวงเศรษฐการออกเป็นทบวง คือ
1.  สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. ทบวงเกษตราธิการ
4. ทบวงพาณิชย์และคมนาคม
โดยเฉพาะหน้าที่ราชการใน ทบวงพาณิชย์และคมนาคม แยกออกเป็นดังนี้
 
1. สำนักเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมการขนส่ง
4. กรมเจ้าท่า
5. กรมทะเบียนการค้า
6. กรมไปรษณีย์โทรเลข
7. กรมพาณิชย์
8. กรมรถไฟ
9. กรมวิทยาศาสตร์   
 
 
ใน พ.ศ. 2477  ได้มรพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับท่ี 3 พ.ศ. 2477  กำหนดหน้าที่ภายใน "กระทรวงเศรษฐการ" ขึ้นใหม่  โดยยุบเลิก "ทบวงเกษตรพาณิชย์" กับ " ทบวงพาณิชย์และคมนาคม"   โดยให้หัวหน้าเศรษฐการมีหน้าที่แยกเป็น
 
1.  สำนักเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมเจ้าท่า
4. กรมทะเบียนการค้า
5. กรมไปรษณีย์โทรเลข
6. กรมพาณิชย์
7. กรมรถไฟ
8. กรมวิทยาศาสตร์
 
 เราจะเห็นได้ว่าชั่งตวงวัดเราในสมัยนั้น (พ.ศ. 24เรียกว่า “กองมาตราชั่งตวงวัด” ภายในกรมทะเบียนการค้า (ดูรูปที่ 3)  โดยมีเพียง 2 แผนกคือ "แผนกตรวจรับรอง" และ "แผนกสำรวจ"  นั้นหมายถึงเรามีงานที่เรียกว่า Core Competency จำนวน 2 งานคือ งาน Verification และ Inspection  สิครับ
 
 
 
รูปที่ 3 พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบกรมในกระทรวงเศรษฐการ พ.ศ. 2478
 
ปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลได้จัดตั้ง “กองอุตสาหกรรม” ขึ้นใน กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ ทำหน้าที่สนับสนุนและค้นคว้า ควบคุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ดำเนินตามแบบแผนและวิธีการที่ดี และปี พ.ศ. 2480 ได้ยกฐานะ กองอุตสาหกรรมเป็น กองอิสระรัฐพาณิชย์ โดยไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเศรษฐการ และได้ขยายอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านควบคุมโรงงาน และส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรม   นอกจากนี้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ยังได้ตราพระราชบัญญัติการกู้เงินในประเทศเพื่อการอุตสาหกรรม ปี พ.ศ. 2481 โดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้เงินภายในประเทศ เพื่อใช้ในกิจการอุตสาหกรรม และได้ตราพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2482 ซึ่งนับเป็นกฎหมายเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมฉบับแรกของประเทศไทยด้วยนิยามแห่งความรับผิดชอบ 
 
 
กระทรวงเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2484 - พ.ศ. 2485) 
พระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484  ตราไว้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2484 มีการแบ่งส่วนราชการโดยมีกระทรวงต่าง ๆ รวม  10 กระทรวง ดังนี้คือ.
1.   สำนักนายกรัฐมนตรี
2.   กระทรวงกลาโหม
3.   กระทรวงการคลัง
4.   กระทรวงการต่างประเทศ
5.   กระทรวงเศรษฐกิจ
6.   กระทรวงเกษตราธิการ
7.   กระทรวงคมนาคม
8.   กระทรวงมหาดไทย
9. กระทรวงยุตติธรรม
10. กระทรวงศึกษาธิการ
โดยกระทรวงเศรษฐกิจมีหน้าที่แยกเป็น
 
           1.  สำนักเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักปลัดกระทรวง
4. กรมโลหกิจ
5. กรมวิทยาศาสตร์
6. กรมอุตสาหกรรม
  
 
        ปี พ.ศ. 2484  กองอุตสาหกรรมได้ยกฐานะเป็น “กรมอุตสาหกรรม” ขึ้นกับกระทรวงการเศรษฐกิจ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก กระทรวงเศรษฐการ     จนกระทั่งในปี 2484 ก็ได้มีการจัดตั้ง กระทรวงคมนาคม ขึ้นใหม่ตามเดิม  ตามพระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484  เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2484 มีการแบ่งส่วนราชการ กระทรวงคมนาคม ดังนี้.
 
 
1.   สำนักเลขานุการรัฐมนตรี
2.  สำนักงานปลัดกระทรวง
3.  กรมการขนส่ง (กองการบินพาณิชย์เดิม สังกัดกระทรวงเศรษฐการ)
4.  กรมเจ้าท่า (โอนจากกระทรวงเศรษฐการ)
5.  กรมไปรษณีย์โทรเลข (โอนจากกระทรวงเศรษฐการ)
6.  กรมทาง (เดิมเป็นกองทาง สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย)
7.  กรมรถไฟ (โอนจากกระทรวงเศรษฐการ)
 
 
กระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2495) 
พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484  พ.ศ. 2485 ตราไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2485   มีการแบ่งส่วนราชการโดยมีกระทรวงต่าง ๆ รวม 10 กระทรวง ดังนี้คือ.
1.  สำนักนายกรัฐมนตรี
2. กระทรวงกลาโหม
3. กระทรวงการคลัง
4. กระทรวงการต่างประเทศ
5. กระทรวงการสาธารณสุข
6. กระทรวงการอุตสาหกรรม
7. กระทรวงเกษตราธิการ
8. กระทรวงคมนาคม
9. กระทรวงพาณิชย์
10. กระทรวงมหาดไทย
11. กระทรวงยุตติธรรม
12. กระทรวงศึกษาธิการ   
 
 
โดยกระทรวงพาณฺชย์  มีหน้าที่แยกหน่วยงานเป็น
 
1.  สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมการสนเทศ
4. กรมการค้าภายใน
5. กรมการค้าต่างประเทศ
6. กรมควบคุมการค้า
7. กรมทะเบียนการค้า
8. กรมส่งเสริมองค์การค้า   
 
           จะเห็นได้ว่ามี 3 กรมเกิดขึ้นใหม่และตั้งอยู่จนถึงปัจจุบันคือ กรมการสนเทศ, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมการค้าภายใน ด้วยเหตุนี้ทั้ง 3 กรมจึงถือว่าวันที่ วันที่ 5 พฤษภาคม  พ.ศ. 2485 เป็นวันกำเนิดกรมฯ  สำหรับ "กรมการสนเทศ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์" ในเวลาต่อมา และเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ" จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2564)
 
ต่อจากนั้นก็มีพระราชบัญญัติอนุมัติ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2485 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 ตามมา
 
 
 
กระทรวงเศรษฐการ (พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2514)
พระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2496 ตราไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2496   มีการแบ่งส่วนราชการโดยมีกระทรวงต่าง ๆ รวม 10 กระทรวง ดังนี้คือ.
1.   สำนักคณะรัฐมนตรี
2.   กระทรวงกลาโหม
3.   กระทรวงการคลัง
4.   กระทรวงการต่างประเทศ
5.   กระทรวงเกษตร
6.   กระทรวงคมนาคม
7.   กระทรวงมหาดไทย
8.   กระทรวงยุติธรรม
9.   กระทรวงวัฒนธรรม
10. กระทรวงศึกษาธิการ
11. กระทรวงเศรษฐการ
12. กระทรวงสหกรณ์
13. กระทรวงการสาธารณสุข
14. กระทรวงการอุตสาหกรรม 
 
โดยกระทรวงเศรษฐการ  มีหน้าที่แยกหน่วยงานเป็น
 
1.  สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมการค้าต่างประเทศ
4. กรมการค้าภายใน
5. กรมการสนเทศ
6. กรมทะเบียนการค้า
7. กรมเศรษฐสัมพันธ์
 
          ปี พ.ศ. 2496 ได้มีการตั้ง "กรมเศรษฐสัมพันธ์"  ขึ้นตามพระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2496  และเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมพาณิชย์สัมพันธ์" จากนั้นเป็น "กรมส่งเสริมการส่งออก" และสุดท้ายเป็น "กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ" จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2563)
          พระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2506 ตราไว้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2506 มี 13 กระทรวง    ยุบ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงสหกรณ์   เพิ่มใหม่เป็น กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ โดยยังคงมีกระทรวงเศรษฐการ เช่นเดิมและแบ่งเป็น 7 กรมเช่นเดิม
 
รูปที่ 4 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2506
 
พ.ศ. 2515
จนในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515 มีประกาศของคณะปฏิวัติ ที่ 216 ก่อให้เกิด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนแรก ได้แก่ ดร.ปรีดา กรรณสูต
 
 
 
กระทรวงเศรษฐการ ??? (พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2534)
          ในช่วงเวลาดังกล่าวมีประกาศคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2514, พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2533, ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พ.ศ 2534
         โดยในปี 2515 มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 ก.ย.2515 ออกใช้บังคับดังนั้นชื่อ  “กระทรวงเศรษฐการ”  เปลี่ยนชื่อมาเป็น “กระทรวงพาณิชย์” จนถึงปัจจุบัน
 
 
 
 
กระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. 2534 - ปัจจุบัน)
พระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 ตราไว้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2534   มีการแบ่งส่วนราชการโดยมีกระทรวงต่าง ๆ รวม 10 กระทรวง ดังนี้คือ.
1.   สำนักคณะรัฐมนตรี
2.   กระทรวงกลาโหม
3.   กระทรวงการคลัง
4.   กระทรวงการต่างประเทศ
5.   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
6.   กระทรวงคมนาคม
7.   กระทรวงพาณิชย์
8.   กระทรวงมหาดไทย
9.   กระทรวงยุติธรรม
10. กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน
11. กระทรวงศึกษาธิการ
12. กระทรวงการสาธารณสุข
13. กระทรวงอุตสาหการ
14. ทบวงมหาวิทยาลัย
 
รูปที่ 5 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534
 
พ.ศ. 2545
ต่อมา ในปี 2545 ตาม พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ก็ยังคงมี กระทรวงพาณิชย์ เป็น 1 ในกระทรวง 20 กระทรวง  เช่นเดิม   คราวนี้ไม่ได้เปลี่ยนชื่อแช่...อีกแต่อย่างใด     แต่อนาคต...ใครจะรู้....
 
 
รูปที่ 6 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
 
 
จากนี้ทำให้เราคงเริ่มเห็นการพัฒนาการองค์กรหน่วยงานของรัฐจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  โดยชื่อเสียงเรียงนามก็เปลี่ยนแปลงไปดังเช่นนี้  องค์ประกอบภายในองค์กรมีการปรับเปลี่ยน จัดแบ่งหน่วยงานแตกต่างกันไป   จะว่าไปไม่มีอะไรที่แน่นอนนอกจาก "ความเปลี่ยนแปลง"  ส่วนจะบอกว่ากระทรวงพาณิชย์มีอายุครบ 100 ปี ในพ.ศ. 2563   นั้นในความเห็นส่วนตัวก็ยากจะกล่าวได้เต็มปากเต็มคำนักว่าครบ "100 ปี"  เพราะระหว่างทาง 100 ปีเนื้อแท้และเนื้องานไม่ได้มีความต่อเนื่องซึ่งรวมไปถึงวัฒนธรรมองค์กร  จนวันนี้ถึงเข้าใจหลายเรื่อง......  ถึงว่า........     ผิดถูกก็ตรวจสอบให้ผมด้วยน่ะครับ......     ความเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มจาก....และจบลง......ตามนี้
“กระทรวงพาณิชย์”
“กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม”
“กระทรวงเกษตรพาณิชยการ”
“กระทรวงเศรษฐการ (กรมพาณิชย์)”
“กระทรวงเศรษฐการ (กรมพาณิชย์, กรมทะเบียนการค้า)”
“กระทรวงเศรษฐกิจ (กรมพาณิชย์)”
“กระทรวงพาณิชย์”
“กระทรวงเศรษฐการ”
“กระทรวงพาณิชย์”
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ชั่งตวงวัด; GOM MOC
นนทบุรี
20 ตุลาคม 2563
 

 



จำนวนผู้เข้าชม : 4134