สาระน่ารู้ ชั่งตวงวัด

ประวัติการชั่งตวงวัดในประเทศสยาม - ประเทศไทย (ฉบับปรับปรุง)

 
 
 
 
ประวัติการชั่งตวงวัดของราชอาณาจักรไทย
 
 กองชั่งตวงวัด
   
         
          เดิมทีเดียวในประเทศไทยใช้วิธีชั่งตวงวัดกันหลายอย่าง ของไทยเองบ้าง ของจีนบ้าง ของฝรั่งบ้าง ต่างว่าเห็นสะดวกหรือเหมาะอย่างไหนก็ใช้อย่างนั้น นอกจากนี้ในอย่างหนึ่ง ๆ ก็มีพิกัดอัตราไม่แน่นอน การใช้วิธีชั่งตวงวัด ชื่อต่างพิกัดอัตรากันนี้เป็นเครื่องขัดขวางความเจริญในการค้าขาย อีกทั้งเมืองไทยขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมแต่อย่างใด   เกิดความยุ่งยากในเรื่องการซื้อขายข้าวเปลือก ข้าวสาร เพราะเป็นอาหารประจำวันรวมทั้งการค้าขายสินค้าอื่นๆก็เจริญมากขึ้นมีการค้าระหว่างหัวเมืองและกับต่างประเทศ ฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชปรารภที่จะวางระเบียบการชั่งตวงวัดของประเทศขึ้นให้เป็นหลักฐาน   ด้วยงานชั่งตวงวัดเป็นเรื่องของการค้าขาย จึงตกเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรพาณิชยการที่จะวางระเบียบในเรื่องนี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงเกษตรพาณิชยการได้คิดที่จะใช้วิธีมาตราเมตริก เมื่อปี พ.ศ. 2440 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ  
 
         
 
 
 
          ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 สมัยเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้ยกร่าง “พระราชบัญญัติอัตราถังและทะนาน ร.ศ. 119 ( พ.ศ. 2444 )” ซึ่งเป็นเอาเฉพาะการตวงขึ้นมาพิจารณาเพราะเหตุว่าประเทศสยามมีสินค้าข้าวที่จะต้องตวงซื้อตวงขายเป็นสินค้าสำคัญ ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย  ในครั้งนั้นสภาเสนาบดีได้ประชุมกันพิจารณาเห็นว่า เมื่อจะแก้ไขแล้วก็ควรจะได้รวมการชั่งและการวัดเข้าไว้ด้วย ในการพิจารณาครั้งนี้ท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (M. Rolin Jacqumyns) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินกับนายชเลสเซอร์ที่ปรึกษากฎหมาย ได้เสนอให้ใช้วิธีเมตริกและได้แก้ไขร่าง “พระราชบัญญัติวัดตวงและชั่ง ร.ศ.119”  ขึ้นใหม่   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นในปี พ.ศ.2445   เพื่อพิจารณาว่าประเทศไทยควรจะใช้วิธีชั่งตวงวัดใดเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงจะเหมาะสม   คณะกรรมการที่ทรงแต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อปี พ.ศ.2448 ว่าควรใช้วิธีเมตริก   แต่กระนั้นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด เรื่องชะงักไปอีกคราวหนึ่งจนถึง พ.ศ.2452 กระทรวงเกษตราธิการซึ่งในขณะนั้นเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์เสนาบดีเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ  ได้ทำการติดต่อกับสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (Bureau International des Poids et Measures; BIPM)  เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกพร้อมกันนั้นก็ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเห็นควรที่ประเทศสยามจะเข้าร่วมสัญญาสากลชั่งตวงวัดในวิธีเมตริกหรืออนุสัญญาเมตริก (The International Metric Convention) ในปี พ.ศ. 2452 ในปีเดียวกัน   ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงพระคลังและเสนาบดีกระทรวงนครบาล ประชุมปรึกษากันทำความเห็นในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง   ที่ประชุมทูลเกล้าฯ ถวายรายงานความเห็นเมื่อ พ.ศ.2454 ว่าประเทศไทยเราควรเข้าเป็นสมาชิกเพื่อรับเอาวิธีเมตริกมาใช้ ทั้งนี้เพื่อให้ระบบชั่งตวงวัดของประเทศสอดคล้องต้องกันกับประเทศอนารยะทั้งหลายรวมทั้งสภาพการติดต่อค้าขายของภูมิภาคและของโลกและได้ทรงพิจารณาเห็นชอบด้วย    
 
 
 
        เมื่อปี พ.ศ. 2454 โดยกระทรวงเกษตราธิการในสมัยสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการได้แจ้งความจำนงไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อขอเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาเมตริก (The International Metric Convention) หรือรู้จักในนาม “Treaty of the Metre” และในปีถัดมา พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912)  ประเทศสยามจึงได้เป็นสมาชิก “Member States” ของอนุสัญญาระบบเมตริก และขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM) ที่ประเทศฝรั่งเศส
 
       
 
 
              ภาคีสมาชิกอนุสัญญาเมตริก (The International Metric Convention) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกก่อตั้งด้วยความร่วมมือของ 17 ประเทศก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1875
 
          ความเป็นมาของอนุสัญญาเมตริก (The International Metric Convention) หรือรู้จักในนาม “Treaty of the Metre” เกิดจากรัฐบาล 17 ประเทศ (1. Argentina, 2. Austria-Hungary, 3. Belgium, 4. Brazil, 5. Denmark, 6. France, 7. Germany, 8. Italy, 9. Peru, 10. Portugal, 11. Russia, 12. Spain, 13. Sweden and Norway, 14. Switzerland, 15. Turkey, 16.United States of America, 17. Venezuela) ได้ก่อตั้ง The Metre Convention และได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาเมตริกขึ้นในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875)  พร้อมกับจัดตั้งหน่วยงานรองลงมาเพื่อปฏิบัติงานอีก 3 หน่วยงานได้แก่ General Conference on Weights and Measures; (CGPM)คณะกรรมการชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (International Committee on Weights and Measures; CIPM, French: Comité international des poids et measures; CIPM) และสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (Bureau International des Poids et Measures หรือ International Bureau of Weights and Measures; BIPM) ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อกำหนดนิยามและจัดตั้งแบบมาตราคือ “มวลกับความยาว (international standard for length and mass)” ในเบื้องต้นก่อน   โดยรัฐบาลฝรั่งเศษอุทิศที่ดินที่จังหวัด Severes เป็นสถานที่ตั้งที่ทำการสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM)  ให้เป็นสถานที่เก็บประถมแบบมาตราและบริหารจัดการ   ด้วยเหตุนี้กระมังที่โลกและไทยเราถือเอาวันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันมาตรวิทยาโลก (World Metrology Day)”
 
 
รูปที่ 1   อนุสัญญาเมตริก (The International Metric Convention) หรือรู้จักในนาม “Treaty of the Metre"
       
           BIPM เป็นสำนักงานและทำหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารที่มีชื่อว่า “the International Committee for Weights and Measures; CIPM” มีหน้าที่ในการส่งเสริมหน่วยวัดสากลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจัดการประชุมปีละ 1 ครั้ง ณ สำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM)   CIPM ประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิกฯ ที่เรียกว่า “Member States” ของอนุสัญญาระบบเมตริกจำนวน 18 คนซึ่งถูกเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของประเทศสมาชิกฯ ทั้งหมดของอนุสัญญาระบบเมตริก ที่เรียกว่า “the General Conference on Weights and Measures (French: Conférence générale des poids et mesures, CGPM)” ที่จะประชุมกันทุกๆ 4 ปี   ด้วยเหตุนี้เราจึงจะเห็นชื่อหน่วยงาน “BIPM” ในภาษาไทยใช้ชื่อว่า “สำนักงานมาตราชั่งตวงวัดของนานาประเทศ” ปรากฏในพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 หรือ “สำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ” ปรากฏในพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ก็เพราะว่าประเทศสยามเราได้เข้าร่วมเซ็นต์สนธิสัญญาที่มีชื่อว่า “อนุสัญญาระบบเมตริก” ในรัชสมัยของสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชการที่ 6 )
  
รูปที่ 2 BIPM Logo
 
          เมื่อรัฐบาลสยามเข้าเป็นสมาชิกสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM) ต้องเสียเงินค่าเข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2455 และได้จำลอง “แบบประถมตัวมาตรา (Prototype)” จาก BIPM รวมทั้งถ่ายทอดความเที่ยงจากแบบประถมตัวมาตราลงมายังชั้นความเที่ยงต่ำกว่าซึ่งเรียกว่า “แบบมาตรา (Standard)” เพื่อใช้สำหรับการสอบเทียบเครื่องชั่งตวงวัดที่ใช้ในประเทศสยามในขณะนั้น ซึ่งในเวลานั้นทั้งแบบประถมตัวมาตรา (Prototype) และแบบมาตรา (Standard)” เก็บรักษาไว้ในกระทรวงเศษฐการ
 
       
 
 
        ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่าประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาเมตริกและรับเอาวิธีเมตริกมาเป็นหลักการชั่งตวงวัดของประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2455 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการก่อตั้งหน่วยงาน 2 หน่วยงานที่สำคัญคือ “สภาเผยแผ่พาณิชย์”§(1]) เมื่อปี พ.ศ.2463 โดยถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบกับหน่วยงานที่มีลักษณะอย่างเดียวกันในปัจจุบันแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าหน้าที่และบทบาทของสภาเผยแผ่พาณิชย์นั้นใกล้เคียงกับ “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” และอีกหน่วยงานหนึ่งคือ “ศาลแยกธาตุ” เมื่อปี พ.ศ.2460 ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่ก้าวหน้ามากสำหรับยุคนั้นเพราะมีบทบาทเทียบเท่ากับ “สภาวิจัยแห่งชาติ” ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในภายหลัง
          สภาเผยแผ่พาณิชย์ถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ทั้งในด้านการวางแผน การจัดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขยายการผลิต ทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทำการคาดคะเนตลาดสินค้าต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งประสานงานให้การขยายตลาดสินค้าของไทยเป็นไปได้อย่างประสบผล ตลอดจนชี้ช่องทางการลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่น่าจะเป็นไปได้แก่เอกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศด้วยซึ่งจุดมุ่งหมายของการก่อตั้งอาจเห็นได้ชัดแจ้งจากข้อความต่อไปนี้
          “กุศโลบายของรัฐบาลในการสร้างทางรถไฟและทางหลวง...ได้ตั้งต้นเปิดตาของผู้ที่ใฝ่ใจในความเจริญของบ้านเมือง ทั้งไทยและเทศ ให้เห็นว่าประเทศสยามมีช่องทางที่จะเจริญได้ใหญ่โตเพียงไร และมีความจำเป็นเพียงไรที่จะต้องวางแผนทางการไว้ให้เรียบร้อยในเรื่องนี้ ด้วยความมุ่งหมายดังกล่าวนั้นและด้วยประสงค์ที่จะสหกิจการทั้งปวงของกระทรวงทบวงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่ในการบำรุง ให้กลมเกลียวกัน พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 จึงได้ทรงพระราชดำริโดยพระปรีชาญาณอันสุขุม ให้สถาปนากระทรวงพาณิชย์และสภาเผยแผ่พาณิชย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2463 ซึ่งสภาฯ นี้ประกอบด้วยกรรมการคือ เสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ เสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ ผู้บัญชาการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมทดน้ำ และมีที่ปรึกษา 3 นายคือ ที่ปรึกษาราชการกระทรวงพระคลังฯ ที่ปรึกษาราชการกระทรวงเกษตรฯ และที่ปรึกษาราชการกระทรวงพาณิชย์ ประจำอยู่ด้วยสำหรับปรึกษากิจการทั้งปวง 
          บรรดากฎหมายและแผนการทั้งหลาย ซึ่งเกี่ยวกับการพาณิชย์หรือการบำรุงพระราชอาณาเขตนั้น ให้เสนอต่อสภานี้ก่อนเมื่อสภาฯ พิจารณาวินิจฉัยแล้ว จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป”
 
          สำหรับหน่วยงาน “ศาลแยกธาตุ” ให้มีหน้าที่ด้านการค้นคว้า วิจัย ทดลองต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะนำทรัพยากรภายในประเทศมาผลิตเป็นสินค้า อันจะเป็นหนทางไปสู่ความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของชาติต่อไป
          ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสภาเผยแพร่พาณิชย์และกระทรวงพาณิชย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2463 นั้นก็โอนงานชั่งตวงวัดมาขึ้นกับสภาเผยแพร่พาณิชย์ แล้วจึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้ตราพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดขึ้นใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2466§(2]) ในการตราพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช 2466 ได้ทรงมีพระราชปรารภไว้ในเบื้องต้น ดังนี้
          “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระราชอาณาจักรสยามในเวลานี้ยังไม่มีวิธีชั่งตวงวัดเป็นสมานรูป ซึ่งกำหนดเป็นแบบมาตราและบัญญัติเป็นกฎหมาย สมควรจะมีวิธีเช่นที่กล่าวนี้ขึ้น
          อนึ่ง วิธีชั่งตวงวัดของประเทศสยามนั้น ควรอนุโลมตามวิธีแห่งนานาประเทศสุดแต่จะสมกับความประสงค์ภายในพระราชอาณาจักร และวิธีเมตริกนั้นปรากฏว่าได้ใช้กันไพศาลแล้ว
          จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า วิธีชั่งตวงวัด ของประเทศสยามนั้นให้เป็นวิธีเมตริก กับให้รวมจำนวนหน่วยที่เป็นประเพณีบางอย่างซึ่งได้ดัดแปลงเข้าหาวิธีเมตริกนั้นแล้วเพิ่มขึ้นชั่วกาลที่จำเป็นยังจะต้องใช้ เพื่อประสพความประสงค์ของภูมิประเทศ”
 
          แม้ว่าการดำเนินงานของสภาเผยแผ่พาณิชย์และศาลแยกธาตุจะประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ แต่ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางการคลังในช่วงปลายรัชสมัยและตามมาด้วยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาถึงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้สภาเผยแผ่พาณิชย์และศาลแยกธาตุถูกยุบเลิกไป
          พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช 2466 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2466   โดยมอบหมายให้เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าหน้าที่จัดการทั้งปวงตามพระราชบัญญัตินี้ ต่อมาภายหลังที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการตั้งกรมทะเบียนการค้า (กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปัจจุบัน) ขึ้นในกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2466 แล้วในปีถัดมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2467 จึงได้มีการประกาศกฎเสนาบดีออกตามความในพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 ขึ้นเป็นฉบับแรก   โดยได้กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัดขึ้นในกระทรวงพาณิชย์และให้อยู่ในความบังคับบัญชาของอธิบดีกรมทะเบียนการค้า   การบริหารงานชั่งตวงวัดจึงสังกัดอยู่ในกรมทะเบียนการค้ามาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 
 
          พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดที่ประกาศใช้ในครั้งแรกนี้ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีการชั่งตวงวัดของคนไทยที่เคยใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน มีบทเฉพาะกาลอนุญาตให้ใช้วิธีประเพณีตามที่เคยใช้อยู่ต่อไปอีกได้โดยไม่ผิดกฎหมายอีกระยะหนึ่ง   เว้นเสียแต่ผู้ใดมีความประสงค์ที่จะใช้วิธีชั่งตวงวัด หรือเครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด ตามพระราชบัญญัติที่ตั้งขึ้นก่อนก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง   กรมทะเบียนการค้าซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารให้เป็นไปตามความประสงค์ของกฎหมายจำเป็นต้องรีบดำเนินการโดยมิให้กระทบกระเทือนถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย   ภายหลังที่ได้จัดตั้งสำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัดขึ้นแล้ว   ได้รับสมัครรับข้าราชการ และทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้งานชั่งตวงวัด ซึ่งเป็นของใหม่เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้สอบมาตรา นายตรวจมาตราชั่งตวงวัด และนายทะเบียน ปฏิบัติงานทั้งในสำนักงานกลางและออกปฏิบัติงานในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อแนะนำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจวิธีการชั่งตวงวัดตามกฎหมายที่ออกมาใหม่   ซึ่งรวมไปถึงการจัดซื้อแบบมาตราชั่งตวงวัด การจัดทำเอกสารเผยแพร่แจกจ่ายประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจ
          ในระยะนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องเดินทางรอนแรมออกไปแนะนำชี้แจงแก่พ่อค้าประชาชนทุกท้องที่ทั่วประเทศไทย   นับว่าได้รับความลำบากกันมิใช่น้อยเนื่องจากบ้านเมืองยังไม่เจริญ การคมนาคมก็ไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน การประชาสัมพันธ์ก็กระทำได้ยากต้องใช้ติดประกาศตามย่านชุมนุมชนที่ว่าการอำเภอ และตามวัด เพราะวิทยุกระจายเสียงก็ยังไม่มีแพร่หลาย
          สำหรับทางด้านส่วนราชการต่างๆ ก็ได้ขอความร่วมมือให้ใช้วิธีชั่งตวงวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการชักนำประชาชนให้เข้าใจและปฏิบัติตามด้วย เช่น การเรียกหน่วยความยาวของทางรถไฟ ถนนหนทาง คูคลองต่างๆ เรียกเป็นจำนวนกิโลเมตร หรือในการออกโฉนดที่ดินที่ยังคงใช้มาตราประเพณีสำหรับพื้นที่ดิน ไร่นา เป็นไร่ งาน เส้น วา ศอก ก็ให้เทียบเข้าหาวิธีเมตริกตามที่กำหนดไว้ในอัตราเทียบกฎหมาย
          ปัญหาที่สำคัญก็คือกฎหมายบังคับใช้แล้ว แต่เครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด ที่ถูกต้องตามกฎหมายยังไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากเครื่องชั่งตวงวัดที่ผลิตได้ภายในประเทศมีเฉพาะเครื่องตวงบางชนิด เช่น สัดหลวง (20 ลิตร) ทะนาน (1 ลิตร) และเครื่องวัดความยาวบางชนิด เช่น ไม้วา ไม้เมตร เท่านั้น ส่วนเครื่องชั่งยังไม่มีผู้ใดผลิตขึ้นจำหน่ายเลยต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ   ครั้งแรกมีผู้สั่งเครื่องชั่งชนิดที่ 3§(3]) ที่มีลักษณะเป็นแบบชั่งจีนแต่คันชั่งเป็นเหล็ก แล้วต่อมาก็มีผู้ผลิตเครื่องชั่งจีนขึ้นโดยใช้ไม้แก้ไขดัดแปลงให้มีลักษณะถูกต้องตามกฎกระทรวงที่กำหนด   สำหรับเครื่องชั่งชนิดอื่นๆ ยังคงสั่งเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น เครื่องชั่งทอง เครื่องชั่งเพชรพลอย เครื่องชั่งยา เครื่องชั่งที่ชั่งน้ำหนักมากๆที่ใช้ตามโรงสี โรงงานอุตสาหกรรม เพราะยังไม่มีผู้ผลิตขึ้น   สำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของประชาชนทั่วไปยังคงเป็นไปตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นผลิตผลทางการเกษตร   นิยมใช้วิธีตวงเกือบทั้งสิ้น ส่วนผลไม้ก็ใช้วิธีนับจำนวนหรือขายเหมากัน
          จนเวลาได้ล่วงเลยมาเกือบ 10 ปี ประชาชนเข้าใจวิธีการชั่งตวงวัดตามกฎหมายกันเป็นส่วนมากแล้ว และมีผู้สั่ง ผู้ทำ ผู้ขาย ผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดได้เริ่มขออาชญาบัตร เพื่อประกอบธุรกิจเป็นการสนับสนุนการใช้เครื่องชั่งตวงวัดพอสมควรแล้ว   กรมทะเบียนการค้าจึงได้เสนอกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการออกประกาศพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้วิธีมาตราชั่งตวงวัดและจำนวนหน่วยกับเครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช 2466  ขึ้นเป็นครั้งแรกในเขตมณฑลกรุงเทพฯ  มณฑลอยุธยา มณฑลราชบุรี และมณฑลปราจีนบุรีเดิม  เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2475 และภายหลังต่อมาก็ได้ขยายเขตการบังคับใช้กฎหมายโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาอีกหลายคราวด้วยกันจนครบทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 รวมเวลาที่กรมทะเบียนการค้าได้ดำเนินการเผยแพร่การเปลี่ยนแปลงวิธีการชั่งตวงวัดตามประเพณีที่ใช้กันอยู่ตามประเพณีท้องถิ่นต่างๆให้มาใช้วิธีตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด และเตรียมการบริหารงานอยู่เป็นเวลาถึง 13 ปีเศษ
          เมื่อได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้กฎหมายชั่งตวงวัดแล้วนั้นในปีเดียวกันก็ได้จัดตั้งสำนักงานสาขามาตราชั่งตวงวัดขึ้นในภาคใต้ก่อนที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2479 และรุ่งขึ้นอีกหนึ่งปีจึงได้จัดตั้งสำนักงานสาขามาตราชั่งตวงวัดขึ้นทางภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2482 ทั้งนี้เพื่อช่วยควบคุมการบริหารงานชั่งตวงวัดในส่วนภูมิภาคให้เรียบร้อย    สำหรับในส่วนกลางก็ได้จัดการปรับปรุงงานเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ สั่งแบบมาตราเครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด และเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการปฏิบัติงานจากต่างประเทศให้เพียงพอแก่ความจำเป็น
          สำหรับการจัดตั้งสำนักงานสาขามาตราชั่งตวงวัดในส่วนภูมิภาคได้เว้นระยะไปหลายปี   กรมทะเบียนการค้าจึงได้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานสาขามาตราชั่งตวงวัดเพิ่มขึ้นอีกที่คือจังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครปฐม จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดชุมพร จังหวัดสระบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดขอนแก่น รวมสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดในส่วนภูมิภาคที่ได้ตั้งขึ้นแล้วก่อนหน้านี้ 3 แห่งรวมกันเป็นทั้งหมด 15 แห่งด้วยกัน
          หลังจากได้ตราพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช 2466 ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช 2466 อีกรวม 4 ครั้งด้วยกัน ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(1) พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2476 แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องคำจำกัดความของจำนวนหน่วย
(2) พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2477 แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการให้เงินสินบนแก่ผู้จับ ผู้นำจับ หรือนำความมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานเมื่อมีผู้กระทำความผิดขึ้น
(3) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 171 ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2515 แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของสินค้าหีบห่อ โดยเพิ่มเติมคำจำกัดความของคำว่า “สินค้าหีบห่อ” และ “บรรจุ” เพิ่มเติมอำนาจของรัฐมนตรีให้มีอำนาจกำหนดวิธีการซื้อขายสินค้า กำหนดวิธีการแสดงปริมาณของสินค้าหีบห่อและกำหนดขนาดการบรรจุของสินค้าหีบห้อ รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการควบคุมสินค้าหีบห่อ และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับสินค้าหีบห่ออีกด้วย
(4) พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2526 แก้ไขโดยการเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดในเรื่องเครื่องชั่ง เครื่องตวง และเครื่องวัด รวมทั้งการกระทำความผิดในเรื่องสินค้าหีบห่อให้สูงขึ้น
ส่วนกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายนั้น ปรากฏว่าได้มีการออกบังคับใช้รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ ด้วยกัน
 
          ในปี พ.ศ. 2534 (1991) กองชั่งตวงวัดได้รับการสนับสนุนโครงการ “Upgrading Legal Metrology in Thailand” (Project no. 91.2173.2/PTB no. 8332) จากสหพันธรัฐเยอรมันนี โดยหน่วยงาน Physikalisch-Technische Bundesanstalt (PTB)   ใน Action Plan ของโครงการดังกล่าวได้ให้คำแนะนำให้ประเทศไทยเตรียมตัวสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายชั่งตวงวัด (OIML; International Organization of Legal Metrology)  ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือในด้านงานชั่งตวงวัดตามข้อกำหนดของกฏหมาย (Legal Metrology) เป็นอย่างสูง เมื่อมี Action Plan และชั่งตวงวัดเราเป็นเด็กดี   ในปี พ.ศ. 2538 ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยกฏหมายชั่งตวงวัด (OIML) โดย กองชั่งตวงวัด กรมทะเบียนการค้า (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปัจจุบัน) กระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวแทนในนามของประเทศไทยเป็น “สมาชิกสมทบ (Corresponding Members)” ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2538 จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
          ณ ช่วงเวลานี้ทำให้กองชั่งตวงวัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์จึงเป็นผู้ตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อจ่ายค่าสมาชิกประจำปีให้กับสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM) และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยกฏหมายชั่งตวงวัด (OIML)  จนกระทั่งในช่วงประมาณ พ.ศ. 2546 - 2547  ชั่งตวงวัดจึงได้โอนการเป็นสมาชิก BIPM ไปยังสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่เพราะเนื้อหาสาระและบทบาทหน้าที่ของ BIPM เป็นงานทางด้าน Science Metrology ในขณะที่กองชั่งตวงวัดจะเป็นหน้างานทางด้าน Legal Metrology
 
รูปที่ 3 OIML Logo
 
          เนื่องจากบริบทของสังคมและเทคโนโลยีของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจึงมีความพยายามจัดทำและปรับปรุงพระราชบัญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 ให้ทันสมัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เรื่อยมาโดยกองชั่งตวงวัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. …. ต่อรัฐสภาแห่งประเทศเพื่อพิจารณา และร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาที่ประชุมแห่งสภาทั้งสองคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยมีมติเห็นชอบร่างฯดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 175 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2542 และมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในพระราชกฎีกา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 29ก วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นเวลา 180 วันตามความในมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป
 
รูปที่ 4 อนุสัญญาฯ จัดตั้ง OIML (Convention Establishing an International Organisation of Legal Metrology) OIML
 
          เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ประเทศไทยโดยสำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (กองชั่งตวงวัดถูกโอนมาสังกัดกรมการค้าภายใน ในปี พ.ศ. 2544 จากพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545) ในนามของประเทศไทยยกระดับความเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรวิทยาเชิงกฎหมาย§(4]) (OIML) จากประเภท “สมาชิกสมทบ (Corresponding Member)” เป็นประเภท “สมาชิกสามัญ (Member State)” จนถึงปัจจุบัน......    สนนราคาความเป็นสมาชิกสามัญต่อปีอยู่ที่ 56,000.EUROS  เหตุที่นับเอาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ว่าประเทศไทยมีสถานะ “สมาชิกสามัญ (Member State)” นั้นเริ่มจาก Instrument of Accession (ภาคยานุวัติสาร) ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ลงนาม (ดังในรูปที่ 5) ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558   แต่ตามข้อ XXXIV วรรคสองของอนุสัญญาฯ (Convention Establishing an International Organisation of Legal Metrology) ระบุให้อนุสัญญาฯมีผลบังคับกับรัฐที่ได้ภาคยานุวัติ 30 วันหลังจากการมอบภาคยานุวัติสาร ซึ่งสถานเอกอัตรราชฑูต ณ กรุงปารีสได้แจ้งว่าได้ส่งมอบภาคยานุวัติสารต่อรัฐบาลฝรั่งเศสเรียบร้อยเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 ตามหนังสือที่ 15001/17 ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2016   ดังนั้นแสดงว่าภาคยานุวัติมีผลถัดจากวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 นับไป 30 วัน คือวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559      ส่วนวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันที่มีการแจ้งยืนยันว่าได้รับเงินค่าสมาชิกจากประเทศไทย
 
 
รูปที่ 5 Instrument of Accession ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558; OIML
 
          งานด้านชั่งตวงวัดนับเป็นงานที่เป็นพื้นฐานและรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมงานหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เป็นเวทีอำนวยความสะดวกและการเชื่อมต่อเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่สังคมชุมชนระดับเล็กสุดภายในประเทศขยายเชื่อมต่อไปจนไปถึงระหว่างชาติรัฐในสังคมโลก  เนื่องจากหากประเทศใดที่มีระบบงานชั่งตวงวัดไม่เข้มแข็งแล้วจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายตลอดจนความสงบเรียบร้อยในสังคมภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการยากที่ประเทศนั้นจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนเองได้ในเวทีการค้าขายและอุตสาหกรรมของโลก   ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม งานด้านการแพทย์สาธารณะสุข เป็นต้น   ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและในภาคสินค้าเกษตรเริ่มได้ผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าในรูปแบบของมาตรฐานทางเทคนิคมากขึ้นเนื่องจากระดับเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของแต่ละชาติรัฐมีความต่างกัน
          ปี พ.ศ. 2566 นี้  "ชั่งตวงวัด"  ก็ครบ 100 ปี  
              
 
 
 

§([1]) อ้างจากบทความโดย รองศาสตราจารย์อสัมภินพงศ์ ฉัตราคม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
§([2])  วารสารกรมทะเบียนการค้า ฉบับที่พิเศษ เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนากรมทะเบียนการค้าครบรอบ 55 ปี, 16 มกราคม 2522
§([3])   การแบ่งเครื่องชั่งตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466
§([4]) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกสามัญขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายชั่งตวงวัด และให้ปรับเปลี่ยนชื่อภาษไทยของ OIML จาก "องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายชั่งตวงวัด" เป็น "องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรวิทยาเชิงกฎหมาย"
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ชั่งตวงวัด; GOM MOC
นนทบุรี
31 กรกฎาคม 2562
 

 



จำนวนผู้เข้าชม : 12412