สาระน่ารู้ ชั่งตวงวัด

เล่าสู่กันฟัง 4

 
 
 
เล่าสู่กันฟัง 4
 
 
 
มาตรา 41 ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัด
เนื่องจากได้รับทราบบางเรื่องราว และได้อ่านระเบียบที่เกี่ยวกับว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดของผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิต หรือผู้ประกอบธุรกิจผลิตหรือซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดสามารถยื่นขอตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตได้เองตามความในมาตรา 41 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือถ้าพูดให้เท่ห์ๆตามที่ชอบพูดกันในงานนี้ก็คือ “Outsourcing” จะถือเป็นแนวบริหารงานด้านชั่งตวงวัด Outsourcing Companies หรือแบบ Outsourcing Agencies หรือ Outsourcing Strategy  ก็สุดแล้วแต่จะเรียกในแต่ละกิจกรรม    แต่ที่แน่ ๆก็คือทำอย่างให้การกระจายอำนาจความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความมั่นคงของราชอาณาจักรไทยไปอยู่ในมือของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีธรรมะ, มีความรู้ความสามารถแท้ทรู และสามารถถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้ด้วยระบบที่โปร่งใสภายใต้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณของชั่งตวงวัดซึ่งเป็นหน่วยงานเพียงหน่วยเดียวของประเทศที่กำกับดูแลงานชั่งตวงวัดในเทอมของกฎหมาย (Legal Metrology) เลยขอยกมาตรา 41 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
 
“มาตรา 41 ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดจะขออนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เพื่อให้ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตหรือซ่อมก็ได้
การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงดังกล่าวให้กำหนดเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้ด้วย”
 
บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีธรรมะ, มีความรู้ความสามารถและสามารถถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้ด้วยระบบที่โปร่งใส ?
          เมื่อพิจารณาจากมาตรา 41 เป็นมาตรการสมัครใจ เราพอจะแยกแยะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ผลิตหรือซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดออกเป็น 4 กลุ่มหลักจากผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดในการผลิต นำเข้า ขาย ซ่อม เครื่องชั่งตวงวัดตามมาตรา 17 คือ
1.       บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ผลิตเครื่องชั่งตวงวัด ในที่นี้จะขอเรียกว่า “ผู้ผลิต”
2.       บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิต ในที่นี้จะขอเรียกว่า “ผู้ซ่อมในนามผู้ผลิต”
3.       บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนไม่ได้ผลิต แต่เป็นผู้นำเข้าหรือผู้ขายเครื่องชั่งตวงวัดดังกล่าว ซึ่งทั้งที่เป็นและไม่เป็น Authorized Dealer (AD) ในเครื่องชั่งตวงวัดดังกล่าว ในที่นี้จะขอเรียกว่า “ผู้ซ่อมในนามผู้นำเข้าหรือผู้ขาย”
4.       บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนไม่ได้ผลิต, ที่ตนไม่ได้นำเข้าหรือที่ตนไม่ได้ขาย ในที่นี้จะขอเรียกว่า “ผู้ซ่อมนอกเหนือจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขาย”
 
          เมื่อพิจารณาถึงเรื่องธรรมะ   ยอมรับครับว่าไม่สามารถมีความรู้ความสามารถที่จะไปหาเครื่องชั่งตวงวัดใดมาวัดความดีและธรรมในหัวใจบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด (ที่รวมกันของบุคคล) ได้เลยครับ   แต่ก็หวังในใจลึกๆว่ามนุษย์ที่เมื่อเวลาเดินแล้วมีกระดูกสันหลังตั้งฉากกับพื้นดินน่ะจะเป็นคนที่มีธรรมะและความดีในหัวใจทุกคน (มองโลกสวยเชียว....)
          แต่ก็สามารถประเมินในเบื้องต้นได้ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ผลิตเครื่องชั่งตวงวัด (“ผู้ผลิต”) แล้วโยนเครื่องชั่งตวงวัดดังกล่าวใส่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของราชอาณาจักรไทยถือเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รู้เรื่องเครื่องชั่งตวงวัดชนิดนั้นๆที่ตนเองผลิตดีที่สุดแล้วครับ ซึ่งกรณีนี้ไม่ครอบคลุมบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่นำเข้าหรือขายเครื่องชั่งตวงวัด (“ผู้นำเข้า” หรือ “ผู้ขาย”) ทั้งที่นำเข้าหรือขายเครื่องชั่งตวงวัดเองอิสระหรือเป็น Authorized Dealer (AD) ของเครื่องชั่งตวงวัดนั้นๆก็ตาม   ดังนั้น “ผู้ผลิต” จึงอยู่ในเรดาร์ของเราที่ต้องการให้เกิด Outsourcing Companies ตาม Outsourcing Strategies (โอยๆๆ..เท่ห์สุดๆ เลย...คิดได้งั้ยล่ะ 555..)
เราค่อนข้างมั่นใจว่าเมื่อ “ผู้ผลิต” ได้รับประโยชน์จากสาธารณะชนแล้วจะได้รับการถ่วงดุลย์และถูกตรวจสอบได้ด้วยระบบตลาด การแข่งขันการค้าที่เสรีและเป็นธรรม (ส่วนจะเสรีและเป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องไปถาม “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 แล้วทำงานได้มากน้อยแค่ไหน?????   ก็ไม่รู้ได้)  การเปิดช่องให้ “ผู้ผลิต” สามารถตรวจสอบให้คำรับรองเองได้ตามมาตรา 41 จึงเป็นช่องทางที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ด้วยระดับขีดความสามารถที่สะท้อนออกมาจากผลงานที่ตนผลิตเครื่องชั่งตวงวัดที่ตอบสนองหรือแก้ไขปัญหาชีวิตของผู้บริโภค   อีกทั้งมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติระดับหนึ่งภายใต้การ Outsourcing ซึ่งกำกับด้วยกฎระเบียบซึ่งออกภายใต้พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ “ผู้ผลิต” ต้องปฏิบัติตาม   อย่างไรก็ตามหาก “ผู้ผลิต” ดังกล่าวมีขีดความสามารถในการหลบหลีกกฎระเบียบหรือขี่ช้างสั่งให้ใครมาแขกหัวพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดได้จนหัวแตกหัวโน หรืออุจจาระปัสสาวะเรี่ยราดกันไปตามๆๆก็ตามที่ จนกระทั่งหลุดรอดไปจากกฎระเบียบที่วางไว้ด้วย 1 Call (การโทรมาสั่งเพียงครั้งเดียว)  แต่อย่ามาถามผมว่ามีหลักฐานหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นก็ถือว่าผมไม่ได้เขียนแล้วกัน (ที่เขียนพิมพ์มาทั้งหมดไม่ใช่ผม...ไอ้ปืด...มันพิมพ์) อย่างนี้ก็ไปต่อไม่ได้น่ะครับ   เราต้องพูดความจริงแล้วแก้ไขปัญหาของประเทศบนความเป็นจริง   ครับสมมุติถัดจากการหลุดรอดจากกฎระเบียบของ “ผู้ผลิต” จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม “ผู้ผลิต” ก็ต้องเจอกฎของตลาดการค้านั้นคือ “Branding” หรือยี่ห้อสินค้าตนเองซึ่งจะถูกตรวจสอบและตอบโต้โดยผู้บริโภคและผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะเลือกรับบริการหรือไม่รับบริการจากผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีอยู่ในตลาด เช่นเครื่องหมายการค้า “โค๊ก” มีมูลค่าสูงมหาศาลเพราะยี่ห้อนั้นๆสะท้อนมูลค่าสินค้าและความมุ่งมาดปรารถนา ความคาดหวังของผู้ซื้อและ ฯลฯ เป็นต้น การดำเนินการใดๆของเจ้าของผู้ผลิตโค๊กต้องคำนึงหรือคิดมากๆรอบด้านหากยังต้องการกินเงิน...ออ...ได้เงินหรือผลประโยชน์จากสาธารณะชนนานๆยาวๆ ก็ต้องรักษายี่ห้อหรือ “Branding” ตัวเองเพราะโค๊กลงทุนมาเยอะแล้วก็คงกลัวเสียผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับในอนาคตเพื่อให้ลูกหลานตัวเองเป็นอยู่สบายรวมถึงผู้ถือหุ้นฯ ในบางกรณี “ผู้ผลิต” เครื่องชั่งตวงวัดเองก็ไม่ประสงค์ทำการตรวจสอบให้คำรับรองด้วยตนเองนั้นคือไม่ประสงค์ใช้มาตรา 41 ซึ่งเป็นมาตราการสมัครใจยังคงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดดำเนินการตรวจสอบให้คำรับรองให้เพราะหากไม่มีคำรับรอง “ตราครุฑ” ประทับบนเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนเองผลิตก็ไม่สามารถขายหรือไม่เป็นที่ต้อนรับของตลาดก็มี เป็นต้น ดังนั้นเราก็หวังว่า “ผู้ผลิต” จะมีอิทธิบาท 4 แล้วดำเนินการการพัฒนาเครื่องชั่งตวงวัด  ทำการตรวจสอบให้คำรับรองเอง  พัฒนาแบบมาตราชั่งตวงวัด พัฒนาการบริการหลังการขาย และ ฯลฯ   เมื่อลงทุนเยอะการกระทำอะไรที่มันไม่ชอบธรรมหรือไม่เป็นไปตามธรรมนองคลองธรรมมันน่าจะน้อยลงบ้างนั้นคือมี “หริโอตตัปปะ”
แต่ในท้ายสุดและสุดท้ายถ้า “ผู้ผลิต” ไม่สนใจเรื่องยี่ห้อ หรือ “Branding” ของตนเองแต่ประสงค์แค่เพียงจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจหรือองค์กรเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะช่วงเวลาสั้นๆ โดยไม่กลัวเกรงการตรวจสอบถ่วงดุลตามกลไกตลาดเราก็หวังว่า “ผู้ผลิต” ดังกล่าวต้องเจอกฎสุดท้ายคือกฎแห่งกรรมหรือกฎธรรมชาติ......   หากยังหลุดได้อีกก็ตัวใครตัวมันสิครับ.......(ไม่คาดหวังกฎหมาย....สิครับ.....ทำไม......มีกฎหมายเยอะแยะแต่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้สักกะที...ทำไม.....)
การทำงานของ “ผู้ผลิต” จึงตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่กล่าวมาในเบื้องต้นส่งผลให้มีแนวคิดให้อายุคำรับรองของการตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดของ “ผู้ผลิต” มีอายุให้คำรับรองนานเทียบเท่ากับอายุคำรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดดำเนินการก็ด้วย Outsourcing Strategies  สิครับ   ผมเข้ารับราชการชั่งตวงวัดใหม่ๆมีพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดรวมทั่วทั้งประเทศเกือบ 250 คนไม่รวมลูกจ้างน่ะครับ   พอรับราชการนานวันเข้าเหลือจำนวนพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด ประมาณ 160 คนไม่รวมลูกจ้างแถม...การสอบภาค ข. เข้ารับราชการและสอบสัมภาษณ์มันก็วังเวง....ใจอย่างไงชอบกลอีกต่างหาก.... มาตรา 41.ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงสร้าง Outsourcing Companies ตาม Outsourcing Strategies  เป็นฉะนี้และฉะนั้น   ยังมีมาตรา 31 อีกน่ะก็สร้าง Outsourcing Agencies แต่ไม่ขอพูดในที่นี้ ...มันเยอะ... แต่เมื่อถึงเวลาสามารถหยิบฉวยมาใช้ได้ทันที แต่อย่างว่าทั้งมาตรา 31 และมาตรา 41 ไม่ใช่มาตรการบังคับแต่เป็นมาตรการภาคสมัครใจการใช้งานจะได้ผลหรือไม่ก็ต้องคำนึงถึงความพร้อมในด้านต่างๆให้เป็นไปตามธรรมชาติการปรับตัวของสังคมเช่นกัน    ซึ่งยังไม่รวมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มอบให้อำนาจตรวจสอบเครื่องชั่งสปริงระหว่างการใช้งานให้กับหน่วยงานส่วนปกครองท้องถิ่นซึ่งไม่ทราบว่าไปกันถึงไหน ก็ Outsourcing Agencies อีกแหละ...
อ้าว...นึกว่าลืมบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่เป็นผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดสิน่ะ (“ผู้ซ่อม”) ไม่ลืมหรอครับ     ในกรณี “ผู้ซ่อม” ซึ่งครอบคลุมทั้ง “ผู้ซ่อมในนามผู้ผลิต”, “ผู้ซ่อมในนามผู้นำเข้าที่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้นำเข้าที่ไม่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้ขายที่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้ขายที่ไม่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมไม่อยู่ในนามใดๆ” และ ฯลฯ  เราก็ยินยอมให้สามารถตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนเองซ่อมได้แต่กำหนดให้มีอายุคำรับรองสั้นกว่าเมื่อเทียบกับอายุให้คำรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด เพราะเราก็กังวลว่า “ผู้ซ่อม” ดังกล่าวมีความรู้ซึ้งถึงเครื่องชั่งตวงวัดชนิดนั้นๆที่ตนเองซ่อมดีมากแค่ไหน (ยกเว้น “ผู้ซ่อมในนามผู้ผลิต” )   การพิสูจน์ทราบถึงขีดความสามารถกระทำได้ยากด้วยจำนวนและศักยภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด การสอบถามทำความรู้จักว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่เป็นผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัด เช่น เคยทำงานในบริษัทฯ ที่ผลิตเครื่องชั่งตวงวัดดังกล่าวแล้วลาออกแยกตัวมาทำธุรกิจเอง ข้อมูลเหล่านี้มีครับแต่พิสูจน์ทราบได้น้อย ที่สำคัญเราไม่มีหน่วยงานราชการกลางหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อและเป็นหน่วยงานที่เราไว้ใจทำการตรวจสอบและให้คำรับรองขีดความสามารถของ “ผู้ซ่อม” ดังกล่าว  ในทางปฏิบัติเองเราก็จะพบว่าในท้องตลาดเองก็มีเครื่องชั่งตวงวัดหลากหลายยี้ห้อและรุ่น ซึ่งหลักการทำงานเครื่องชั่งตวงวัดเองก็มีด้วยกันหลากหลาย อะไหล่เครื่องชั่งตวงวัดก็มีจำนวนมากมายทั้งแท้และของเทียบเคียง ฯลฯ เมื่อความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงานของ “ผู้ซ่อม” ที่ไม่ใช่ “ผู้ซ่อมในนามผู้ผลิต” สูงมากและกระทบต่อผลประโยชน์และความสงบสุขของสาธารณชนในราชอาณาจักรไทย เราก็ยินยอมให้“ผู้ซ่อม” ซึ่งครอบคลุมทั้ง “ผู้ซ่อมในนามผู้ผลิต”, “ผู้ซ่อมในนามผู้นำเข้าที่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้นำเข้าที่ไม่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้ขายที่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้ขายที่ไม่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมไม่อยู่ในนามใดๆ” และ ฯลฯ สามารถตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนเองซ่อมได้แต่กำหนดให้มีอายุคำรับรองสั้นกว่าเมื่อเทียบกับอายุให้คำรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด จึงถือเป็นเรื่องที่อลุมอร่อยพอประมาณ ผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดก็มีทางเลือกว่าจะใช้บริการแบบไหนจาก “ผู้ซ่อม” ซึ่งครอบคลุมทั้ง “ผู้ซ่อมในนามผู้ผลิต”, “ผู้ซ่อมในนามผู้นำเข้าที่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้นำเข้าที่ไม่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้ขายที่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมในนามผู้ขายที่ไม่เป็น AD”, “ผู้ซ่อมไม่อยู่ในนามใดๆ อิสระเสรีเหนือสิ่งอื่นใด” และ ฯลฯ   พอช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์สูงแต่สามารถประกอบธุรกิจบริการซ่อมเครื่องชั่งตวงวัด   พอช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดไม่ต้องรอคิวการซ่อมจากผู้ผลิตเครื่องชั่งตวงวัดเป็นระยะเวลานานๆเสียเวลาทำธุรกิจ ซึ่งเราก็มองเห็นว่ามีช่องว่างตลาดหรือ Blue Ocean ให้คนบางกลุ่มในสังคมมีที่ยืนมีงานทำลดปัญหาสังคมไทยที่ต้องประนีประนอมเข้าหากัน      และ........พอช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตให้กับผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดให้มีลมหายใจดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายใต้การขาดแคลนกำลังพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดตามที่รุ่นพี่กล่าวว่ามันเป็นการให้ทางเลือกเสมือนการขึ้น “ทางด่วน” เพื่อหลบการจราจรติดขัดบนถนนพื้นราบแต่สุดท้ายเมื่อลงทางด่วนก็ต้องมาวัดดวงว่าเจอรถติดหรือไม่เจอรถติด...ไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้น   มันเป็น “ทางเลือก”.....ที่น่าสนใจไม่ใช่หรือครับ
แต่อาจโดนถามว่าแล้วทำไมชั่งตวงวัดที่มีแต่คนเก่งๆทั้งนั้น (ชมตอนจะใช้งานทุกที   หลังจากนั้นโดนด่าเช็ด....) ทำไมไม่สอนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่เป็นผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัด มันก็จะวกกลับมายังปัญหาเดิมว่าการคัดเลือกรับเข้ารับราชการดำเนินการได้ดีมากแค่ไหนตามระบบไทยๆๆ.. มี Manhour จำนวนเพียงพอต่องานหรือเปล่า .ฯลฯ
หลังจากใช้งานเครื่องชั่งตวงวัดที่ผ่านจากซ่อมไปแล้วจะไม่มีหน่วยงานใดๆเข้ามาดูแลเลยก็มีแต่ชั่งตวงวัดเท่านั้นแหละ ดังนั้นกำหนดให้มีอายุคำรับรองสั้นกว่าเมื่อเทียบกับอายุให้คำรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด    มันเหมาะสมหรือควรแก่เหตุหรือเปล่าล่ะครับ โดยเฉพาะเครื่องชั่งตวงวัดที่ใช้ซื้อขายต่อสาธารณชนหากมีการฟ้องร้องและมีความผิดก็คิดเอาเองว่า 1 กรรมต่อ 1 วาระ ประชานฟ้องมา 10 คน ก็ 10 กรรม   ฟ้องมา 100 คน ก็ 100 กรรม   แต่ตอนนี้เป็นกรรมของผมที่ต้องมาสื่อสารองค์กร และประชนครับ
ในประเด็นขีดความสามารถนี้ “ผู้ซ่อม” บางหลายก็อาจโต้แย้งว่าผมเจ๋งกว่าคนอื่นๆ ผมมีเครื่องมือดีๆ  เข้าถึงอะไหล่เครื่องชั่งตวงวัดแท้ๆ ผมฝึกอบรมพนักงานอย่างดีมีคุณภาพสูงๆ ไม่เหมือน “ผู้ซ่อม” อีกหลายเจ้า ส่วน “ผู้ซ่อมในนามผู้ผลิต” ก็บอกว่าอ้าวทีผมได้เป็นผู้ผลิตและผมสามารถตรวจสอบให้คำรับรอง “ชั้นแรก” เองตามมาตรา 41 แล้วทำไมพอผมซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดที่ผมผลิตเองตามมาตรา 41 อายุคำรับรอง “ชั้นหลัง” ของผมไม่เท่ากับกับคำรับรอง “ชั้นแรก”    .....$%@*?##%$@**..... มันเถียงกันไม่จบหรอกครับ นอกจากนี้การออกกฎระเบียบที่เกี่ยวกับสาธารณชนหากออกกฎระเบียบที่หยุมหยิมอีกทั้งยากต่อการปฏิบัติและบังคับใช้ มันจะดีหรือครับ?
ส่วนในเรื่องกลไกของตลาดการค้าด้าน “Branding” ก็ยังกังวลอยู่เพราะการลงทุนของ “ผู้ซ่อม” แต่ละรายมีทั้งสูงต่ำแตกต่างกันถือว่าอยู่ในสภาวะที่สุ่มเสี่ยงสูงอยู่ในระดับน่ากังวลเช่นกันเพราะ “ผู้ซ่อม” บางรายซึ่งเป็น “ผู้ซ่อมไม่อยู่ในนามใดๆ อิสระเสรีเหนือสิ่งอื่นใด” มีรถยนต์ 1 คัน เครื่องมือ 1 ลัง พร้อมฝีมือและกำลังกายกำลังใจเท่านั้น  หาก “ผู้ซ่อม” รายนั้นมีชื่อเสียงด้าน “Branding” ไม่ดีก็ย้ายพื้นที่หากินไปอีกที่หนึ่งไปเรื่อยๆ แล้วทำอย่างไร ??? หากให้อายุคำรับรองของการตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดของ “ผู้ซ่อม” มีอายุให้คำรับรองนานเทียบเท่ากับอายุคำรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด   การตรวจสอบถ่วงดุล การรับผิดชอบต่อสาธารณชนมีขีดจำกัด ฯลฯ    ดังนั้นในประเด็นกลไกการตรวจสอบด้วยระบบกลไกการตลาดและ “Branding” นี้ “ผู้ซ่อม” บางหลายก็อาจโต้แย้งว่า เรารับผิดชอบเต็มที่ ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย อออ. ไม่หนี รับประกันผลงานเต็มที่ มีอาคารสำนักงานที่แน่นอนไม่หนีไปไหน บางคนก็บอกว่าก็ออกกฎระเบียบเพื่อคัดกรองคนที่มีทุนต่ำและจำนวนคนน้อยกำจัดพวก “มือปืน” ออกไป    ถ้าอย่างนั้นเราก็จะได้รับเรื่องร้องเรียนว่ากฎระเบียบออกมาเป็นการเลือกปฏิบัติตามด้วยการฟ้องศาลปกครอง.........ก็ว่ากันไป..ไม่จบ...หรอกครับ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในแง่ความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้ผลิต” “ผู้ซ่อม” และ “อายุคำรับรอง” อาจมีความคิดเห็นโต้แย้ง หรือเห็นต่างก็ว่ากันไป หากบริบททางสังคม วิถีการดำเนินชีวิตของสังคม และเทคโนโลยี่ทางด้านชั่งตวงวัดเปลี่ยน   อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงได้ครับแต่ตอนนี้ก็กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
ท้ายสุดแม้เราจะ Outsourcing อย่างไรก็ไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาใดๆได้ 100%  สุดท้ายมันอยู่ที่ “ผู้บริโภค” จะต้องหาความรู้และรักษาผลประโยชน์ตนเองตลอดจนรวมกลุ่มกันตรวจสอบถ่วงดุลผู้ประกอบธุรกิจในการผลิต นำเข้า ขาย ซ่อม เครื่องชั่งตวงวัดและช่วยกันดูแลสอดส่องแจ้งมายังชั่งตวงวัดเพื่อทำงานร่วมกัน ภายใต้บริบทไทยแลนด์ 8.0 ครับ 55555....
 
 
 
 
เครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่
ต้องพูดเรื่องนี้เนื่องจากถึงคุยกันหลายครั้งหลายคราวแต่ดูเหมือน เสียงมันหายไปตามสายลมหรือจะด้วยประการใดก็ตาม ประกอบกับเมื่อไม่กี่วันน้องเข้ามาถามเพราะเค้าและเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับมาตรา 41 ซึ่งก็ยอมรับว่าไม่ได้ดูระเบียบที่เกี่ยวข้องลงในรายละเอียดมากนักแต่พอน้องมาถามแล้วศึกษาระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าวก็ไม่สบายใจและนั่งชั่งใจอยู่หลายวันว่าควรจะเขียนเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังดีหรือเปล่า เพราะพูดไปก็รื้อกันเยอะ ใครก็ไม่ชอบ ฯลฯ   แต่สรุปก็เขียนเถอะเพราะมันดีต่อส่วนลึกของจิตใจ มันทรมานกว่าถ้าไม่ทำ เริ่มสื่อสารองค์กรและประชาชนกันเลย....
ตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมมีเนื้อหาสาระ
 
          มาตรา 27 ในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และเป็นเครื่องชั่งตวงวัดที่มีการให้คำรับรองแล้วให้ผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดมีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ติดตั้งเสร็จเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและให้คำรับรองใหม่”
โดยมีบทลงโทษ
          มาตรา 73 ผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”
 
ผลตามมาทำให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯบนฐานอำนาจมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมที่มีชื่อว่า
 
          “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การตรวจสอบและให้คำรับรองใหม่กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่และมีการให้คำรับรองแล้ว พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 4 เมษายน 2559” เครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ มี 6 ชนิดด้วยกัน
(1)    เครื่องชั่งไม่อัตโนมัติซึ่งมีพิกัดกำลังตั้งแต่ ๒๐ เมตริกตันขึ้นไป
(2)    มาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการ
(3)    มาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการที่มีอุปกรณ์ควบและอุปกรณ์เสริมเป็นบัตรเครดิต
(4)    มาตรวัดปริมาตรก๊าซปิโตรเลียมเหลวตามสถานีบริการ
(5)    มาตรวัดมวลโดยตรงที่ใช้วัดหาค่ามวลของก๊าซปิโตรเลียมตามสถานีบริการ
(6)    มาตรวัดมวลโดยตรงที่ใช้วัดหาค่ามวลของก๊าซธรรมชาติที่มีสถานะเป็นไอตามสถานีบริการ
 
          ในทางเทคนิคแล้วคิดว่ามีชนิดเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่มากกว่า 6 ชนิด แต่เรื่องนี้ข้ามไปก่อนเพราะแค่นี้ก็ขอให้ตั้งหลักให้เข้าใจร่วมตรงกันก่อน   เอาเป็นว่ามาพิจารณากันเลย
ทำไมกฎหมายถึงต้องกังวลการเคลื่อนย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ที่มีการให้คำรับรองแล้ว ก็เพราะเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่เป็นเครื่องชั่งตวงวัดที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับรุนแรงสิครับ   ถ้าไม่เชื่อลองให้นักเศรษฐศาสตร์ไปประเมินมูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการโดยใช้เครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ตีมูลค่าการซื้อขายสิครับเอาเฉพาะมูลค่าจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าว..สินค้าตัวเดียว...แล้วจะหนาว (ฝนตกติดๆกันหลายวัน..มันจึงหนาว)   เมื่อเทียบกับงบประมาณและกำลังพนักงานเจ้าหน้าที่ของชั่งตวงวัดที่ต้องมีหน้าที่กำกับดูแลงานชั่งตวงวัดในเทอมของกฎหมาย (Legal Metrology) ทั่วทั้งประเทศจะยิ่งหนาวสะท้าน..เข้าไปอีก... 
ทำไมเมื่อเคลื่อนย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่แล้วเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งานจึงต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบให้คำรับรองใหม่ ก็เพราะทางเทคนิคความสมบูรณ์และคุณภาพของการติดตั้งทั้งระบบเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ดังกล่าวเป็นผลของการทำงานร่วมกัน สอดรับกันและสอดคล้องกันทั้งระบบเครื่องชั่งตวงวัดเพื่อส่งมอบผลการชั่งตวงวัดที่ถูกต้องเที่ยงตรงโดยแท้ทรูและอย่างมีนัยสำคัญอย่างมากสิครับ   เช่น
·       การติดตั้ง Loadcells จำนวนทั้ง 4 ตัวของเครื่องชั่งรถยนต์บรรทุกไม่ตั้งฉากและไม่ได้ระดับเดียวกันทั้ง 4 ตัว อาจเป็นผลจากการก่อสร้างหลุมหรือบ่อหรือฐานรองรับส่วนรับน้ำหนักของเครื่องชั่ง (ดูรูปที่ 1)
·   ส่วนรับน้ำหนักออกแบบมาไม่สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้เต็มพิกัดกำลังของเครื่องชั่งรถยนต์บรรทุก เช่นออกแบบโครงสร้างของส่วนรองรับน้ำหนักมี Safety Factor ไม่ถึง 2.5 ไม่ได้ออกแบบและสร้างให้ต้องรับภาระน้ำหนักทั้งแบบน้ำหนักจร (Dynamic Load) และน้ำหนักตายตัว (Dead Load) สูงเพียงพอ ส่งผลให้ส่วนรับน้ำหนักอาจมีสภาพโค้งงอทำให้ส่งผ่านน้ำหนักที่ต้องการชั่งลง Load Cells ได้ไม่ครบถ้วนเกิดการสูญเสีย ซึ่งอาจตรวจไม่พบเมื่อทำการชั่งน้ำหนักที่มีค่าน้อย (ดูรูปที่ 2)
 
รูปที่ 1   การติดตั้ง Load Cells ได้ทำการติดตั้งตามที่ผู้ผลิตออกแบบหรือไม่ ?
 
 
รูปที่ 2   การออกแบบ ผลิต และติดตั้งส่วนรับน้ำหนัก (Load Receptors) มีผลต่อความเที่ยงตรงของเครื่องชั่งชนิดติดตรึงกับที่
 
·   สายส่งสัญญาณจาก Junction Box ของเครื่องชั่งมีความยาวเกินค่าที่ออกแบบหรือไม่ได้คุณภาพตามที่ออกแบบทำให้สูญเสียคุณภาพของสัญญาณที่ส่งไปยังส่วนประมวลผลและส่วนแสดงค่าของเครื่องชั่ง (ดูรูปที่ 3)
·   ทางเข้าและทางออกส่วนรับน้ำหนักของเครื่องชั่งรถยนต์บรรทุกที่มีความลาดเอียงสูงมากหรือราบเลียบไปพร้อมกับถนนทางเข้าออก ส่งผลต่อการติดค้างหรือเกิดการเบียดตัวของตัว Stopper กับขอบหลุม/บ่อชั่งน้ำหนัก การเบียดเสียดและสึกหรอของส่วนสัมผัสระหว่างส่วนรับน้ำหนักกับ Load Cells หรือคมมีด (ดูรูปที่ 4)
 
      
รูปที่ 3   การติดตั้ง Junction Box เพื่อรวบรวม, ปรับปรุงคุณภาพสัญญาณให้พร้อมส่งไปยังส่วนประมวลผลและส่วนแสดงค่าของเครื่องชั่งชนิดติดตรึงกับที่
 
    
รูปที่ 4   ความลาดเอียงกับความราบเลียดของทางเข้าเครื่องชั่งชนิดติดตรึงกับที่
 
·       มาตรวัดปริมาตรตามสถานีบริการภายใต้สภาพพร้อมใช้งานจริงของระบบปั๊ม, ระบบท่อส่งจ่าย, ข้อลดข้องอ, การสร้างอัตราการไหลและความดันที่เปลี่ยนแปลงภายในระบบท่อเมื่อจ่ายของเหลวเข้ามาตรวัดปริมาตรตามสถานีบริการพร้อมกันหลายหัวจ่ายหากไม่มีระบบ Invertor เพื่อปรับรอบปั๊มให้สร้างอัตราการไหลและความดันให้คงที่
 
     
รูปที่ 5   ระบบการวัดปริมาตรของเหลวของมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงสถานีบริการ
 
·   ระบบมาตรวัดปริมาตรของไหลและระบบมาตรวัดมวลโดยตรงไม่สามารถรักษาสภาวะของไหลที่ทำการวัดให้มีสถานะเดียว (Single Phase Fluid) นั้นคือถ้าเป็นของเหลวก็ต้องเป็นของเหลวล้วนๆต้องไม่มีก๊าซเจือปนหรือถ้าเป็นก๊าซก็ต้องเป็นก๊าซล้วนไม่มีของเหลวเจือปนจนทำให้สูญเสียความเที่ยงตรงผลการวัดของระบบมาตรวัด ซึ่งต้องการประสานทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ เช่น ระบบการกำจัดอากาศ, Pressure Control Valve ด้านทางออกของมาตรวัดปริมาตรของเหลวสถานีบริการ, ระดับของเหลวภายในถังสำรองน้ำมันใต้ดิน/บนดิน  เป็นต้น
·   ทำการตรวจสอบให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรของเหลวด้วยของเหลวต่างชนิดกับของเหลวที่จะใช้กับมาตรวัดปริมาตรของเหลวจริงๆ ทั้งๆที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ (ฉบับเก่าฯ พ.ศ. 2546) และประกาศกระทรวงฯที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะชนิดของเหลวแต่ละชนิดซึ่งมีค่าความหนืดแตกต่างกันส่งผลต่อการทำงานมาตรวัดที่ให้ผลการวัดและความเที่ยงตรวการวัดต่างกัน
·       ฯลฯ
 
เอาแค่พิจารณาประเด็นหลัก 2 ประเด็นในเบื้องต้นพอในการพิจารณาภายใต้ มาตรา 27 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม ถ้าเราพิจารณาวงจรเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ในเทอมของการใช้งานและตรวจสอบให้คำรับรองพบว่าวงจรเริ่มต้นจากเมื่อติดตั้งเครื่องชั่งตวงวัดเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงตรวจสอบและให้คำรับรอง “ชั้นแรก” เมื่อหากย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ก็ต้องติดตั้งให้เสร็จสมบูรณ์แล้วให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับแจ้งก็ต้องมาตรวจสอบและให้คำรับรอง “ชั้นหลัง” วนไปเรื่อยๆ   ด้วยเหตุนี้หากจะถามต่อว่าการตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ควรกระทำเมื่อเวลาใด ก็ขอตอบว่าการตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ควรกระทำเมื่อถูกติดตั้งเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
เรายอมรับเสมอว่าผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย ผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่นั้นมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องชั่งตวงวัดดังกล่าวดีกว่าพวกชั่งตวงวัดเราอยู่แล้วว่าการติดตั้งมีผลต่อการทำงานและความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ ไม่ต้องแจกแจงให้เสียเวลา   ด้วยเหตุนี้เมื่อผู้ครอบครองมีความจำเป็นที่ต้องย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่เพื่อไปติดตั้งในสถานที่ใหม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำการตรวจสอบให้คำรับรองใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่ต้องดำเนินการจึงถูกบัญญัติไว้ตาม มาตรา 27 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม   ดังนั้นผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมตามมาตรา 41 หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่ทำการตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ก่อนถูกติดตั้งให้อยู่กับที่ในระบบที่ถูกต้องสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
เรามาพิจารณาในบางแง่มุมต่อ   เครื่องชั่งลำดับที่ 1 (ตามประกาศกระทรวงฯ ข้างบน)  พบว่าไม่มีปัญหาไม่มีช่องโหวในเรื่องการใช้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเพราะกฎหมายกำหนดอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดรูปแบบเดียวคือ 0.5e, 1.0e และ 1.5e สำหรับเครื่องชั่งไม่อัตโนมัติ แต่หากสมมุตให้มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 2 ระบบ โดยให้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดกับส่วนวัดน้ำหนักหรือ Loadcell มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเป็น 0.25e, 0.5e และ 0.7e วันนั้นคงมีคนถอด Loadcells 4 ตัวจากเครื่องชั่งไม่อัตโนมัติซึ่งมีพิกัดกำลังตั้งแต่ ๒๐ เมตริกตันขึ้นไปแล้วส่งไปยังห้องปฏิบัติการทดสอบ Loadcells  (ดูรูปที่ 7) พอผลการทดสอบ Loadcells ผ่านก็ถือว่าเครื่องชั่งไม่อัตโนมัติซึ่งมีพิกัดกำลังตั้งแต่ ๒๐ เมตริกตันขึ้นไปนั้นผ่านการตรวจสอบให้คำรับรองจากนั้นประทับเครื่องหมายคำรับรองเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เมื่อมีคำสั่งซื้อจากลูกค้า ผู้ผลิตก็นำเครื่องชั่งไม่อัตโนมัติซึ่งมีพิกัดกำลังตั้งแต่ ๒๐ เมตริกตันขึ้นไปไปติดตั้งโดยไม่ต้องปฏิบัติความตามมาตรา 27 เพราะถือว่าเป็นเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่กับที่และมีการให้คำรับรองแล้วไปติดตั้งใหม่จึงถือว่าไม่ได้เคลื่อนย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ที่มีการให้คำรับรองแล้วจึงไม่ต้องแจ้งต่อสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ติดตั้งเสร็จเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและให้คำรับรองใหม่ตามมาตรา 27         กระนั้นหรือ 
 
รูปที่ 6   ส่วนประกอบหลักของระบบเครื่องชั่งไม่อัตโนมัติชนิดเครื่องชั่งรถยนต์บรรทุก
 
 
         
รูปที่ 7   การทดสอบ Load Cell
 
มาตรวัดตามสถานีบริการตั้งแต่ลำดับ 2 – 6 ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การตรวจสอบและให้คำรับรองใหม่กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่และมีการให้คำรับรองแล้ว พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 4 เมษายน 2559  มีช่องโหวความเข้าใจการใช้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเนื่องจากมาตรวัดปริมาตรของเหลวได้ถูกกำหนดให้มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 2 แบบคืออัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดของระบบมาตรวัดปริมาตรของเหลว (0.5%) และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเฉพาะตัวมาตรวัด (0.3%) อยู่บนพื้นฐานของ OIML R117 ซึ่งมาตรวัดปริมาตรของเหลวมีความหลากหลายชนิดและมีหลักการทำงานที่แตกต่างกันไป โดยมาตรวัดสถานีบริการเป็นชนิดหนึ่งในหลายชนิดและประเภทในภาพรวมของมาตรวัดปริมาตรของเหลว การแยกแยะว่ามาตรวัดปริมาตรของเหลวชนิดใดต้องตรวจสอบได้เฉพาะเมื่อติดตั้งเข้าระบบพร้อมใช้งานเพราะการติดตั้งของระบบซึ่งมาตรวัดปริมาตรของเหลวต้องทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ร่วมและอุปกรณ์เสริมจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการแยกแยะ ไม่ใช่มาตรวัดปริมาตรของเหลวชนิดหนึ่งวันหนึ่งอยากตรวจสอบให้คำรับรองแบบระบบมาตราวัดปริมาตรของเหลว ใช้ MPE 0.5%  แต่อีกวันหนึ่งไม่สะดวกขี้เกียจคนไม่ว่างหรือต้องการประหยัดต้นทุนหรือต้องการหางานเข้าห้องปฏิบัติการก็ตรวจแบบ Stand Alone ใช้ MPE 0.3% อย่างนี้ถือว่าเราไม่เข้าใจใน OIML R117 
การกำหนดให้มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 2 แบบคืออัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดของระบบมาตรวัดปริมาตรของเหลว (0.5%) และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเฉพาะตัวมาตรวัด (0.3%) ต้องพิจารณาให้รอบคอบหลายด้าน บนพื้นฐานการตรวจสอบให้คำรับรองที่สภาวะใช้งานจริงหรือสภาวะใกล้เคียงการใช้งานจริงของระบบมาตรวัดปริมาตรของเหลวจริงเป็นหลักการที่ต้องคำนึงไว้ตลอดเวลา    การให้มีทางเลือกให้มี MPE 0.3% เฉพาะในกรณีแบบ Stand Alone ก็เพื่อในกรณีจำเป็นที่อาจเจอในภาคสนามเช่น ไม่สามารถนำแบบมาตราเข้าไปในสถานที่ติดตั้งมาตรวัดฯ ก็ต้องถอดเฉพาะมาตรวัดปริมาตรของเหลวออกมา หรือข้อจำกัดความเที่ยงและพิกัดกำลังของแบบมาตราภาคสนามมีไม่เพียงพอต่อการใช้งานได้จริงในภาคสนาม หรือผลจากการตรวจสอบต้นแบบพิสูจน์ให้เห็นว่าความเที่ยงของมาตรวัดปริมาตรไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้ของเหลวต่างชนิดกับของเหลวที่จะใช้กับมาตรวัดปริมาตรของเหลวจริง เป็นต้น   ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญาณให้ทราบอีกด้วยว่าอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดของระบบมาตรวัดปริมาตรของเหลว (0.5%) มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 องค์ประกอบคืออัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเฉพาะตัวมาตรวัด (0.3%) รวมกับอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดอันเนื่องจากการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ในทั้งระบบ ซึ่งรวมทั้งอุปกรณ์ร่วมและอุปกรณ์เสริม (0.2%)
 
รูปที่ 8   ตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการ
 
ดังนั้นถ้าเป็นเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ (มาตรวัดสถานีบริการ) แต่ไม่ได้ติดตั้งอยู่กับที่แต่ดันไปตรวจสอบและให้คำรับรองก่อนแบบไม่ติดตั้งอยู่กับที่ จากนั้นนำเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ดังกล่าวที่คิดว่าเป็นเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่กับที่และมีการให้คำรับรองแล้วไปติดตั้งใหม่จึงถือว่าไม่ได้เคลื่อนย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ที่มีการให้คำรับรองแล้วจึงไม่ต้องแจ้งต่อสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ติดตั้งเสร็จเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและให้คำรับรองใหม่ตามมาตรา 27 ทำได้ใช่มั๊ย......นั้นประลัยล่ะมันแท้ยิ่งกว่าชั่งหัวมัน Potato พับผ้าสิน่ะ...ปวด Heads (หลายหัว)....ผมไม่ใช่นิติกร...เลยอยากถามต่อว่าเมื่อมันถูกจัดเป็นเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่และการติดตั้งเครื่องชั่งตวงวัดชนิดนี้มันมีผลต่อความเที่ยงตรงถูกต้องของเครื่องชั่งตวงวัดแล้วมันจะตรวจสอบและให้คำรับรองไปได้อย่างไร มัน........จุ๊กอก Chip Loss    เลยถามต่อ...ต่อ....ว่ามาตรวัดสถานีบริการแต่ไม่ได้ติดตั้งอยู่กับที่แต่ตรวจสอบและให้คำรับรองไปแล้วนั้นมีอายุคำรับรองกี่ปี   ถ้าบอกว่ามีอายุคำรับรอง 2 ปี ........มันส์ยกร่องต่อล่ะสิคราวนี้เพราะอายุคำรับรอง 2 ปีนั้นให้กับ “ระบบมาตรวัดตามสถานีบริการ” น่ะครับ ไม่ใช่ “มาตรวัดตามสถานีบริการ”..........   กลับบ้านไปนอนเถอะ....ลูก.....วันนี้ไม่มีข่าว..........
 
รูปที่ 9   มาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงภายในตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการเป็นมาตรวัดปริมาตรของเหลวชนิด Positive Displacement Flowmeter (PD)
 
ดังนั้นหากใครคิดใช้ช่องโหวนี้โดยตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ (มาตรวัดฯสถานีบริการ) ในขณะที่ไม่ได้ติดตั้งให้ติดตรึงอยู่กับที่แล้วไปใช้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 0.3% เพราะถือว่ามันเป็นการตรวจสอบตัวมาตรวัดแบบ Stand Alone อีกทั้งยังใช้ของเหลวต่างชนิดกับของเหลวที่จะใช้กับมาตรวัดฯ ในการซื้อขายจริง  และคิดว่ามีอายุคำรับรอง 2 ปีทั้งที่ตรวจสอบให้คำรับรองแต่เพียงตัวมาตรวัดตามสถานีบริการไม่ใช่ระบบมาตรวัดตามสถานีบริการ     ถ้า
·       การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจสอบและประกันคุณภาพในการผลิตด้วยระบบ QC/QA ล่ะถือว่ายอดเยี่ยม    แต่ถ้า
·       หากถือเป็นการตรวจสอบให้คำรับรอง (Verification) ตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม ขอให้หยุดการกระทำนั้นและทำการแก้ไขปรับปรุงเสีย หรือถ้า
·       หากถือการกระทำดังกล่าวคิดรวบยอดที่เดียวเอาทั้งการควบคุมและการประกันคุณภาพด้วยระบบ QC/QA ของบริษัทฯเองรวมเข้ากับการตรวจสอบให้คำรับรอง (Verification) ตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมไปด้วยนั้นถือว่าท่านกระทำการเอาเยี่ยงอย่างหนุมานเหยียบยอดทรวงอกของพระรามเสียกระมัง.....
 
ถือว่าการกระทำ 2 ประการหลังดังกล่าวถือว่ามันผิดทันทีแม้ไม่ปรากฏในระเบียบสำนักงานกลางชั่งตวงวัดว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบและให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการของผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการ พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นระเบียบใช้กับ “ผู้ผลิต”  แต่เครื่องชั่งตวงวัดวัดที่ท่านทำการตรวจสอบให้คำรับรองภายใต้มาตรา 41 ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ (ฉบับเก่าฯ พ.ศ. 2546) หรือประกาศกระทรวงฯที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ที่สำคัญท่านเป็นผู้ผลิตท่านตรวจสอบมาตรวัดสถานีบริการด้วยของเหลวที่มีคุณสมบัติทางกายภาพเทียบเท่ากับ Kerosene แต่ท่านนำมาตรวัดสถานีบริการไปใช้ซื้อขายน้ำมัน E85 ท่านต้องตระหนักรู้ว่ามาตรวัดที่ท่านผลิตจะให้ผลของการวัดต่างออกไปเท่าไหร่และอย่างไร มีโอกาสที่ทำให้มีผลผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดหรือไม่ เป็นต้น  ดังนั้นจึงขอให้ท่านกระทำการแก้ไข โดย
1.    ตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ควรกระทำเมื่อถูกติดตั้งเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน เพราะการติดตั้งเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ดังกล่าวเป็นผลของการทำงานร่วมกันทั้งระบบเครื่องชั่งตวงวัดเพื่อส่งมอบผลการชั่งตวงวัดที่ถูกต้องเที่ยงตรงอย่างมีนัยสำคัญ   อีกทั้งความสมบูรณ์และคุณภาพการติดตั้งมีผลต่อความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่
2.         อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 0.3% หรือ 0.5% ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ (ฉบับเก่าฯ พ.ศ. 2546) หรือประกาศกระทรวงฯที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน กำหนดให้ใช้กับของเหลวชนิดเดียวกับของเหลวที่ใช้กับมาตรวัดสถานีบนิการในการซื้อขายจริง        เนื่องจากมาตรวัดปริมาตรของเหลวดังกล่าวใช้เพื่อการซื้อขายสินค้ากับสาธารณชนการตรวจสอบให้คำรับรองต้องดำเนินด้วยความระมัดระวัง
 
รูปที่ 10   ตัวอย่างผลกระทบของความหนืดของเหลวต่อความเที่ยงของมาตรวัดปริมาตรของเหลวชนิด Positive Displacement Flowmeter (PD)
 
รูปที่ 11   ผลกระทบต่อสมรรถนะของมาตรวัดปริมาตรของเหลวชนิด Positive Displacement Flowmeter (PD) เมื่อความหนืดของเหลวเปลี่ยน 
 
 
รูปที่ 12  แนวโน้มของความคลาดเคลื่อน (Shift) ของผลการวัดของมาตรวัดปริมาตรของเหลวชนิด Positive Displacement Flowmeter (PD) เทียบกับค่าความหนืดของเหลวที่เปลี่ยนแปลง
 

 

3.         การตรวจสอบให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรของเหลวนั้น กำหนดให้ระบบมาตรวัดปริมาตรของเหลว มีอายุคำรับรอง 2 ปีนับแต่วันที่ให้คำรับรอง ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดปริมาตรของเหลว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และอายุคำรับรอง ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562   ดังนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดและผู้ผลิตมาตรวัดปริมาตรของเหลวที่เข้าสู่มาตรการ ม.41 การจะให้คำรับรองมีอายุคำรับรอง 2 ปีได้นั้นต้องดำเนินการตรวจสอบให้คำรับรอง “ระบบมาตรวัดปริมาตรของเหลว” ซึ่งมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 0.5% เท่านั้น (“ระบบการวัดปริมาตรของเหลว” (Dynamic measuring systems for liquids other than water) หมายความว่า ระบบที่ประกอบด้วยมาตรวัดปริมาตรของเหลว อุปกรณ์ควบ และอุปกรณ์เสริม)

 

 
ในท้ายสุดถ้าหากสำนักงานชั่งตวงวัดเขตฯใดสงสัยในความเที่ยงมาตรวัดสถานีบริการดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ทันทีที่ได้รับแจ้งว่าผู้ผลิตไปติดตั้งมาตรวัดสถานีบริการดังกล่าวแล้วเสร็จ ท่านสามารถเดินทางไปตรวจสอบได้ทันทีแล้วท่านจะพบคำตอบ และถ้าคำตอบนั้นให้ผลไปในทางที่ขัดกับกฎหมายก็ขอให้ท่านปฏิบัติตามกฎหมายเถอะครับอย่าให้ผู้เกี่ยวข้องเดือดร้อน จะถือเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ขายตู้จ่าย ทั้งผู้ครอบครองตู้จ่ายหรือเจ้าของสถานีบริการ ผู้รับจ้างบริหารสถานีบริการ ทั้งประชาชนที่เข้าไปซื้อผลิตของเหลวปิโตรเลียม ทั้งชั่งตวงวัดเอง และทั้งประสิทธิภาพทางการค้าและความเป็นธรรมทางการค้าของราชอาณาจักรไทย ............
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ชั่งตวงวัด; GOM MOC
นนทบุรี
9 กันยายน 2563

 



จำนวนผู้เข้าชม : 4965