สาระน่ารู้ ชั่งตวงวัด

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas; LPG)

 
 
 
 

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว

 

(Liquefied Petroleum Gas)
 
 
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว   หมายถึง    “ก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว คือ โปรเปน, โปรปิลีน, นอร์มัลบิวเทน, ไอโซบิวเทน หรือบิวทีลีน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ผสมกันเป็นส่วนใหญ่”  โดยทั่วไปเรามักเรียก ก๊าซปิโตรเลียมเหลวนี้ว่า ก๊าซ, แก๊ส, แก๊สเหลว หรือแก๊สหุงต้ม ส่วนในวงการค้าและอุตสาหกรรม ชื่อที่เรารู้จักกันดี คือ แอล พี แก๊ส (LP GAS) หรือ แอล พี จี (LPG) ซึ่งเป็นอักษรย่อ มาจาก Liquefied Petroleum Gas    ดังนั้นเพื่อความสะดวกต่อไปนี้เราจะเรียกว่า “LPG” หรือ “ก๊าซปิโตรเลียมเหลว”     
ก๊าซปิโตรเลียมเหลวโดยทั่วไปมีสภาพเป็นก๊าซที่อุณหภูมิห้องและความดันบรรยากาศ โดยมีน้ำหนักประมาณ 1.5 - 2 เท่าของอากาศทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของ LPG   การที่ได้ชื่อว่าปิโตรเลียมเหลวก็เพราะก๊าซจะถูกอัดให้อยู่ในสภาพของเหลวภายใต้ความดันจนมีสถานะเป็นของเหลวทั้งนี้ก็เพื่อสะดวกต่อการเก็บและการขนส่ง แต่เมื่อลดความดันก๊าซเหลวนี้จะกลายเป็นไอเพื่อสามารถนำมาใช้งานได้   ก๊าซปิโตรเลียมเหลวถูกจัดเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญในปัจจุบัน และมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในครัวเรือน ร้านอาหาร ภัตตาคาร  โรงพยาบาล  ร้านอาหารประเภท Fast Food ในห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัยประเภทคอนมีเนียม ตลอดจนพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งภาคขนส่งในรถยนต์รับจ้างและรถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งถือเป็นเป็นพลังงานทางเลือกอีกชนิดหนึ่งเมื่อราคานำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูง เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้งานง่าย ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับแหล่งเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ สามารถขนส่งสะดวกไม่เปลืองที่เก็บทำให้มีปริมาณเหมาะสมต่อรอบปริมาณใช้งาน  และที่สำคัญคือ เผาไหม้แล้วเกิดเขม่าน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น
 
1.      แหล่งที่มาของก๊าซปิโตรเลียมเหลว แหล่งที่มาของก๊าซมี 2 แหล่งใหญ่ๆ  ได้แก่
1.1.        ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน   ซึ่งจะได้ก๊าซโปรเปนและบิวเทนประมาณ 1-2%   แต่ก่อนที่จะนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น ต้องแยกน้ำและเกลือแร่ที่ปนอยู่ออกเสียก่อน หลังจากนั้นนำน้ำมันดิบมาให้ความร้อนจนมีอุณหภูมิประมาณ 340 - 400 °C จากนั้นจะถูกส่งเข้าสู่หอกลั่น ซึ่งภายในประกอบด้วยถาด (tray) เป็นชั้น ๆ หลายสิบชั้น ไอร้อนที่ลอยขึ้นไป เมื่อเย็นตัวลงจะกลั่นตัวเป็นของเหลวบนถาดตามชั้นต่าง ๆ และจะอยู่ชั้นใดขึ้นอยู่กับช่วงจุดเดือด องค์ประกอบในน้ำมันที่มีช่วงจุดเดือดต่ำ (เป็นไอได้ง่าย) จะลอยขึ้นสู่เบื้องบนของหอกลั่นได้แก่ พวกไฮโดรคาร์บอนที่มีสถานะเป็นก๊าซ (LPG รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย) ส่วนไฮโดรคาร์บอนที่มีช่วงจุดเดือดปานกลางและสูงก็จะแยกตัวออกและลอยตัวขึ้นไปจนถึงตอนกลางและตอนล่างของหอกลั่นตามลำดับ  ซึ่งได้แก่ องค์ประกอบน้ำมันดิบจาพวกแนพทา (Naphtha ), น้ำมันก๊าด, น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา ตามลำดับ
 
รูปที่ 1 หอกลั่น
 
 
 
 
 
รูปที่ 2  กระบวนการกลั่นทางด้านปริโตรเคมีจากน้ำมันดิบ
 
องค์ประกอบของน้ำมันดิบจำพวกไฮโดรคาร์บอนที่มีสถานะเป็นก๊าซและก๊าซชนิดต่างๆที่ผสมอยู่ในน้ำมันดิบจะถูกกลั่นโดยจะลอยตัวออกจากด้านบนของหอกลั่นรวมเรียกว่า “ก๊าซปิโตรเลียม” ซึ่งประกอบด้วยส่วนผสมของก๊าซไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอน 1 อะตอมถึง 4 อะตอมและมีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S), คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ไนโตรเจน (N2), ไฮโดรเจน (H2) และอื่น ๆ ปนอยู่ จำเป็นต้องกำจัดหรือแยกออกโดยนำก๊าซปิโตรเลียมผ่านเข้าหน่วยแยกก๊าซ LPG  (Gas Recovery Unit) และขบวนการตามขั้นตอนของผู้เจริญแล้วด้วยเทคโนโลยีซึ่งขอละไว้ที่นี้ ทั้งนี้เพราะว่าการออกแบบกระบวนการกลั่นนั้นมีด้วยกันหลากหลายขึ้นอยู่กับเทคนิคและค่าใช้จ่ายของกระบวนการกลั่น  เพื่อแยกเอาโปรเปนและบิวแทน (ซึ่งต่อไปจะเป็น LPG) ออกมา หลังจากนั้น LPG จะถูกส่งไปเก็บในถังเก็บและมีสภาพเป็นของเหลวภายใต้ความดัน
ก๊าซ LPG ที่ได้จากส่วนนี้เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ โดยปริมาณผลิตผลพลอยได้ (by product) ประมาณ 2 % ของผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้ 
1.2.        ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ     โดยผ่านโรงแยกก๊าซธรรมชาติ สำหรับประเทศไทยแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณอ่าวไทย หลังจากสามารถสำรวจและขุดเจาะพบก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติก็จะถูกอัดส่งผ่านระบบท่อความดันสูงจากแท่นขุดเจาะ เดินระบบท่อบนพื้นทะเลอ่าวไทยขึ้นบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อทำการแยกก๊าซแตกละชนิดออกมาลักษณะของก๊าซ LPG ที่ผ่านโรงแยกก๊าซธรรมชาติจะไม่มีสี ไม่มีรสและไม่มีกลิ่น ผู้ดูแลกิจการเจ้าใหญ่สุดในส่วนนี้ หนีไม่พ้น ปตท. ซึ่งยัง งงง อยู่ว่าเป็นบริษัทมหาชนหรือเป็นรัฐวิสาหกิจ
โดยทั่วไปองค์ประกอบของก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) จะมีองค์ประกอบตามรูปที่ 3
 
 
  
รูปที่ 3   Constituents of Natural Gas
 
 
รูปที่ 4    Natural Gas Valve Chain
  
 
 
 
รูปที่ 5   องค์ประกอบของก๊าซ และของเหลวปิโตรเลียม
 
เมื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาจากแหล่งขุดเจาะจากแหล่งธรรมชาติแล้วขนส่งทางท่อเข้าสู่โรงแยกก๊าซ (Gas Separation Plant) เพื่อทำการแยกเอาสารไฮโดรคาร์บอนที่มีอยู่ในก๊าซธรรมชาติออกเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ คือ มีเทน (Methane) อีเทน (Ethane) โปรเปน (Propane ) บิวเทน (Butane )  และก๊าซอื่น ๆ กระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ (ดูรูปที่ 6)  เริ่มต้นด้วยการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และน้ำที่เจือปน อยู่ในก๊าซธรรมชาติออกก่อน  โดยกระบวนการ Benfield ซึ่งใช้โปตัสเซียมคาร์บอเนต ( K2CO3 ) เป็นตัวจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกระบวนการดูดซับ (Absorption Process) โดยใช้สารจำพวก Molecular Sieve ซึ่งมีลักษณะเป็นรูพรุน ทำหน้าที่ดูดซับน้ำ ก๊าซธรรมชาติที่แห้งจากหน่วยนี้จะผ่านเข้าไปใน Turbo-expander เพื่อลดอุณหภูมิจาก 250 °K เป็น 170 °K และลดความดันลงจาก 43 บาร์ เป็น 16 บาร์   ก่อนแล้วจึงเข้าสู่หอแยกมีเทน (De-methanizer) มีเทนจะถูกกลั่นแยกออกไป และส่วนที่เหลือคือส่วนผสมของ ก๊าซไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอนตั้งแต่ 2 อะตอมขึ้นไป ( ethane plus stream ) ซึ่งอยู่ในสถานะของเหลวและจะออกทางส่วนล่างของหอแยก จากนั้นผลิตภัณฑ์ของเหลวดังกล่าวจะถูกต่อไปยังหอแยกอีเทน (De-ethanizer ) และหอแยกโปรเปน (De-propanizer) เพื่อแยกอีเทนและโปรเปนออกตามลำดับต่อไป  ในหอแยกโปรเปนนี้เองตัวโปรเปนจะถูกแยกออกทางด้านบนของหอ ส่วน LPG ซึ่งเป็นส่วนผสมของโปรเปนและบิวเทนจะถูกแยกออกมาจากส่วนกลางของหอ และส่วนผลิตภัณฑ์ที่ออกจากหอทางด้านล่างคือ ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (Natural Gasoline)  ทั้งนี้อย่าสับสนกับ ก๊าซธรรมชาติเหลว (NGL; Natural Gas Liquid) ซึ่งเป็นชื่อเรียกรวมของผลิตภัณฑ์ดังในรูปที่ 4 และในรูปที่ 5
 
 
 
ตารางที่ 1   องค์ประกอบของก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)
 
 
 
 
รูปที่ 6 ขั้นตอนการแยกก๊าซธรรมชาติ
 
สำหรับ LPG ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติจะมีก๊าซโปรเปนและบิวเทนในก๊าซธรรมชาติประมาณ 6-10%  
 
 
 
รูปที่ 7   ขั้นตอนการแยกก๊าซธรรมชาติ
 
ลักษณะของก๊าซ LPG ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติจะมีคุณสมบัติคล้ายกับคุณสมบัติของก๊าซที่ผ่านโรงกลั่นน้ำมันเช่นเดียวกัน คือ จะไม่มีสี ไม่มีรส (ไม่เคยชิมเช่นกัน) และไม่มีกลิ่น ด้วยเหตุนี้ในการใช้งานก๊าซ LPG ทั้งในรูปการจัดเก็บภายในถังความดันสูงหรือเพื่อการขนส่งจึงต้องเติมสารมีกลิ่นซึ่งค่อนข้างมีกลิ่นเหม็นลงไปเรียกว่า “Mercaptan–เมอร์แคปแตน” เพื่อประโยชน์หากมีการรั่วไหลออกจากถังบรรจุจะทำให้เราได้กลิ่นก่อนล่วงหน้า  และสามารถแก้ปัญหาได้ทันการณ์
          นอกจากนี้ในกรณีที่ประเทศไม่สามารถขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ได้เอง การผลิต LPG (มาถึงจุดนี้จะมีบางคนเริ่มมึนอะไรคือ LPG หรือเปล่า หากมึนก็ขอให้กลับไปอ่านนิยามในย่อหน้าแรกสุดของบทความน่ะขอรับ !) จึงอยู่ในรูปของการนำเข้า NGL (Natural Gas Liquid) เพราะไม่สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ได้เนื่องจากปริมาณการขนส่งด้วยเรือไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจยกเว้นสามารถขนส่งด้วยระบบท่อ  การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในรูปของ NGL (Natural Gas) จึงมีความคุ้มค่ามากกว่า ดังนั้นเมื่อนำเข้ามาแล้วก็ต้องนำ NGL เข้ากระบวนการแยกก๊าซเช่นเดียวกันโดยมีขั้นตอนดังในรูปที่ 8   ในบางประเทศหรือบางบริษัทฯอาจมีขั้นตอนที่แตกต่างจากรูปที่ 8 ก็ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ ในที่นี้ยกรูปมาเพื่อความสนุกและความมันครับ เอาให้มึนกันไปข้างหนึ่งแต่ที่แน่ ๆ ผมมึนก่อน
 
 
รูปที่ 8   ขั้นตอนการแยกก๊าซ NGL เพื่อให้ได้ก๊าซ LPG
  
รูปที่ 9   แหล่งผลิตหลักให้ได้ก๊าซ LPG
ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้มาจากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติจะประกอบด้วยโปรเปน (propane) เป็นส่วนใหญ่ทั้งนี้จะได้ผลิตภัณฑ์ใดมากน้อยเพียงใดหรือจะมีสัดส่วนของ C3 และ C4 เท่าใดขึ้นอยู่กับแหล่งของก๊าซธรรมชาติ  ส่วนในกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นน้ำมันนั้นจะได้บิวเทน (butane) เป็นส่วนใหญ่แต่อาจมีการผสมของผลิตภัณฑ์ C3 และ C4 ในรูปของไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัว (Un-saturated Hydrocarbon) ซึ่งมักประกอบด้วยโปรปิลีน (Propylene) นอร์มัลบิวทิลีน ( n-butylene) ไอโซบิวทิลีน (iso-butylene) และ butylene-2   เอาล่ะชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเริ่มปวดหัวแล้ว แต่ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันต่อไปว่ามันคืออะไร
 
2.      คุณสมบัติทางเคมี
เนื่องจากมีการใช้คำว่า LPG กันหลากหลายสถาบัน Gas Processors Association (GPA) จึงได้กำหนดมาตรฐานของ LPG ขึ้นมาพร้อมวิธีการตรวจสอบชื่อมาตรฐานว่า  GPA Standard 2140-97 Liquefied Petroleum Gas Specifications and Test Methods ดังในรูปที่ 10 และรูปที่ 11 ซึ่งย่อยข้อมูลลงมาในบางมิติ ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ
1.       Commercial Propane :     องค์ประกอบหลักคือ โปรเปน และ/หรือ โปรปิลิน
2.       Commercial Butane :       องค์ประกอบหลักคือ บิวเตน และ/หรือ บิวทิลีน
3.       Commercial B-P Mixture : องค์ประกอบหลักเป็นส่วนผสมระหว่าง คือ โปรเปน และ/หรือ โปรปิลิน กับบิวเตน และ/หรือ บิวทิลีน
4.       Propane HD-5 :               ประกอบด้วยโปรเปนไม่น้อยกว่า 90% โดยปริมาตร กับโปรปิลินไม่เกิน 5 % โดยปริมาตร
 
 
 
รูปที่ 10   Liquefied Petroleum Gas Specifications and Test Methods, Gas Processors Association, GPA Standard 2140-97
  
 
 
รูปที่ 11   GPA 2140-97 LPG Specification (ย่อ)
 
จากรูปแบบส่วนผสมหรือองค์ประกอบของ LPG ในทางพวกตะวันตก 4 รูปแบบแล้วประเทศไทยเราก็เป็นอย่างไรละครับ เมื่อไปดู “ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบ และการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. 2554” ได้นิยามก๊าซปิโตรเลียมเหลวไว้ว่า
“ก๊าซปิโตรเลียมเหลว” หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ประกอบด้วยโพรเพน โพรพิลีน นอร์แมลบิวเทน ไอโซบิวเทน หรือบิวทิลีน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างผสมกันเป็นส่วนใหญ่ซึ่งบรรจุลงในถังก๊าซหุงต้มหรือถังเก็บและจ่ายก๊าซ
เรามาดูข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงานได้มีประกาศกรมฯ ที่มีชื่อว่า “ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. 2547” โดยก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในประเทศไทยต้องมีลักษณะและคุณภาพตามรายละเอียดแนบท้ายประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ดังตารางด้านล่าง  ทั้งนี้ วิธีทดสอบอาจใช้วิธีอื่นที่เทียบเท่าก็ได้   แต่ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งให้ใช้วิธีที่กำหนดในรายละเอียดนี้
 
 

  

ด้วยเหตุนี้ LPG ในประเทศไทยจึงเป็น LPG ที่ครอบคลุมทั้ง 4 รูปแบบตามที่ GPA Standard 2140-97 Liquefied Petroleum Gas Specifications and Test Methods กำหนด นั้นคือยำใหญ่ครับ โดยมีองค์ประกอบหลักเป็นส่วนผสมตามที่นิยามครับ “LPG ประกอบด้วยโพรเพน โพรพิลีน นอร์แมลบิวเทน ไอโซบิวเทน หรือบิวทิลีน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่าง ผสมกันเป็นส่วนใหญ่”    ด้วยเหตุนี้ LPG (ในประเทศไทย) จึงเป็นส่วนผสมของสารไฮโดรคาร์บอนที่มีความหลากหลายและปริมาณสัดส่วนอาจแตกต่างกันบ้าง แต่โดยภายรวมแล้วส่วนประกอบหลักของก๊าซ LPG จะมีด้วยกัน 4 ตัวหลักๆ ที่เราควรทำความรู้จัก คือ
1.         โปรเปน (Propane; C3H8) ในหน้าร้อนของประเทศไทยจะมีความดันอยู่ที่ประมาณ 175 - 200 Psi   (ที่อุณหภูมิ 15 °C   จะมีความดัน 6.5 bar)
2.         โปรปิลิน (Propylene; C3H6)
3.         บิวเตน (Butane; C4H10 ) จากข้อมูลเบื้องต้นโดยประมาณ เราพบว่าบิวเตนในหน้าร้อนของประเทศไทยจะมีความดันอยู่ที่ประมาณ 80 - 100 Psi (ที่อุณหภูมิ 15 °C จะมีความดัน 1.0 bar)
4.         บิวทิลีน (Butylene; C4H8) ซึ่งรวมถึงนอร์มัลบิวทิลีน (n-butylene;nC4H8) และไอโซบิวเตน (iC4H8)
 
ทั้งจากองค์ประกอบข้างบนเราจึงพอสรุปโดยหลักการเพื่อใช้ทำงานในทางปฏิบัติว่าก๊าซ LPG ประกอบด้วยไฮโดรคาร์บอนซึ่งใน 1 โมเลกุลจะมีส่วนประกอบของคาร์บอน (C) 3 อะตอม และคาร์บอน (C) 4 อะตอม หรือ C3+ C4 ( ไม่ใช่ข้าราชการ ซี 3 กับซี 4 น่ะครับ อันนี้ระบบนี้ยกเลิกไปแล้วครับ)   นอกจากนี้ก๊าซ LPG ยังคงมีองค์ประกอบสารไฮโดรคาร์บอนอื่นๆอีก  
คราวนี้วกกลับมาเรื่องงานชั่งตวงวัดตามข้อกำหนดของกฎหมาย (Legal Metrology)   ในการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรวัดปริมาตรของเหลวนั้น เราได้ร่างกำหนดนิยามของคำว่า “ของเหลว”    โดยให้ครอบคลุมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วปรับใช้นิยามของ “น้ำมันเชื้อเพลิง” ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับ 2) พ.ศ. 2550 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 มาตรา 4 มาใช้ซึ่งนิยามของน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวครอบคลุมถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) แต่ถูกตัดออกไปในคณะกรรมการชั่งตวงวัดฯ ทำให้การเชื่อมโยงถักทอพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 เข้ากับ พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543  เพื่อให้ราบเรียบเข้าด้วยกันเกิดรอยตะเข็บขึ้นมา
 
น้ำมันเชื้อเพลิง หมายความว่า
(1) ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียม น้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และ น้ำมันหล่อลื่น
(2) สิ่งอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นหรือผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้หรืออาจใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหรือเป็นสิ่งหล่อลื่น หรือสิ่งอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นสิ่งหล่อลื่น
ซึ่งได้ตัด “ก๊าซธรรมชาติ” ออกไปเนื่องจากในร่างประกาศกระทรวงงฯ ดังกล่าวตีกรอบเฉพาะของเหลวสถานะเดียวเท่านั้น ดังนั้นหากชั่งตวงวัดเราในวันหนึ่งวันใดเกิดมึนๆว่าน้ำมันเชื้อเพลิงคืออะไร ก็ขอให้กลับไปดูนิยาม “น้ำมันเชื้อเพลิง” จากพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 แล้วปรับใช้ให้ดีเพราะงานชั่งตวงวัดตามข้อกำหนดของกฎหมายนั้นกรอบจำกัดเฉพาะ Trading (การค้า) คือ Products และ Services ซึ่งก็คือการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหันไปมองพระราชบัญญัติฯ ทั้ง 2 อยู่เสมอและหากต้องออกกฎระเบียบใดก็ขอให้ถักถอเนื้อหาให้เข้ากับพระราชบัญญัติฯ ทั้งสองดังกล่าวด้วย
 
สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ปรากฏอยู่ในส่วนผสมของก๊าซปิโตรเลียมเหลว อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ พวกไฮโครคาร์บอนอิ่มตัว (Saturated Hydrocarbon) และไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัว (Unsaturated Hydrocarbon)
กลุ่มไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว (Saturated Hydrocarbon) ได้แก่ โปรเปน (Propane) นอร์มัลบิวเทน (n-butane หรือ Normal Butane; nC4) และ ไอโซบิวเทน (iso-butane หรือ Isobutane; iC4) เพราะมีพันธะเคมีจับตัวกันระหว่าง C และ H เป็นพันธะเดียว
 
        
รูปที่ 12   พันธเคมีของกลุ่มไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว (Saturated Hydrocarbon)
 
กลุ่มไฮโครคาร์บอนไม่อิ่มตัว (Unsaturated Hydrocarbon) ได้แก่ โปรปิลีน (Propylene), นอร์มัลบิวทิลีน (n-butylene) และ ไอโซบิวทิลีน (iso-butylene)
 
 
รูปที่ 13   พันธเคมีของกลุ่มไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัว (Unsaturated Hydrocarbon)
 
3.             คุณสมบัติทางกายภาพ   ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ใช้กันอยู่มี 2 สถานะ คือ ของเหลวและก๊าซ ดังนั้นจำเป็นต้องทราบถึงคุณสมบัติทางกายภาพของก๊าซปิโตรเลียมเหลวทั้งสองสถานะ ดังนี้
3.1.   ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเมื่ออยู่ในสถานะเป็นของเหลว
(ก.)             จุดเดือด และสภาวะวิกฤติ    LPG มีจุดเดือดต่ำมาก คือ โปรเปนมีจุดเดือดเท่ากับ    –42 °C, นอร์มัลบิวเทนมีจุดเดือดเท่ากับ -0.5 °C, ไอโซบิวเทนมีจุดเดือดเท่ากับ  –11.7 °C  ดังนั้น LPG มีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิปกติและความดันบรรยากาศเว้นเสียแต่จะถูกอัดด้วยความดันหรือทำให้ LPG มีอุณหภูมิลดลงต่ำกว่าจุดเดือด ค่าความดันที่ทำให้ LPG เป็นของเหลวต่อเมื่อเพิ่มความดันให้สูงกว่าค่าความดันไอของ LPG (Vapor Pressure)  ตัวอย่างเช่นที่อุณหภูมิของโปรเปนเท่ากับ 15 °C จะมีค่าความดันไอของโปรเปนเท่ากับ 7.3 เท่าความดันบรรยากาศ และหากอุณหภูมิของโปรเปนสูงขึ้นแล้วค่าความดันไอของโปรเปนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน  ตัวอย่างเช่นเมื่อโปรเปนมีอุณหภูมิ 96.67 °C ความดันที่ต้องใช้อัดโปรเปนอย่างน้อยต้องมากกว่า 41.94 เท่าความดันบรรยากาศจึงจะทำให้โปรเปนมีสถานะเป็นของเหลว แต่เราพบว่าเมื่ออุณหภูมิสูงกว่านี้โปรเปนจะไม่เป็นของเหลวแม้ว่าจะอัดด้วยความดันมากกว่า 41.94 บรรยากาศก็ตาม  ด้วยเหตุนี้เราจึงเรียกสภาวะที่อุณหภูมิ 96.67 °C และความดัน 41.94 เท่าความดันบรรยากาศของโปรเปนว่า “สภาวะวิกฤติ (Critical Point)” ของ    โปรเปน
 
รูปที่ 14   สภาวะวิกฤติ (Critical Point)
 
  
 
ส่วนประกอบ
จุดเดือด ( °F )
C2H   เอทธีลีน (อีธีน)
C2H6    อีเทน
C3H6    โปรปีลีน
C3H8    โปรเปน*
iC4H10 ไอโซบิวเตน
C4H8    บิวตีลีน (บิวตีน)
nC4H10บิวเตน
iC5H12 ไอโซเพนเตน
nC5H12เพนเตน
-155
-128
-54
-44
11
13-39
31
82
97
* โปรเปน เป็นส่วนประกอบของก๊าซ LPG ในตลาดปัจจุบัน
ตารางที่ 2   องค์ประกอบก๊าซ LPG
 
 
ตารางที่ 3 คุณสมบัติของก๊าซชนิดต่างๆ
 
 
(ข.)             ความหนาแน่น ปริมาตรจำเพาะและความถ่วงจำเพาะ     ความหนาแน่น คือ อัตราส่วนของน้ำหนักต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร เช่น ที่อุณหภูมิ 15.5 °C ความหนาแน่นของโปรเปนมีค่าเท่ากับ 507 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร    สำหรับส่วนกลับของความหนาแน่นก็คือ “ปริมาตรจำเพาะ” นั้นเอง    โปรเปนมีค่าปริมาตรจำเพาะเท่ากับ 2 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน     สำหรับค่าความถ่วงจำเพาะจะแสดงถึงอัตราส่วนของความหนาแน่นระหว่างก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่อุณหภูมิใดอุณหภูมิหนึ่งเทียบกับน้ำที่อุณหภูมิ 4 °C  ตัวอย่างเช่น ค่าความถ่วงจำเพาะของโปรเปนเหลวที่อุณหภูมิ 15 °C มีค่าเท่ากับ 0.5077  ส่วนนอร์มัลบิวเทนและไอโซบิวเทนจะมีค่าความถ่วงจำเพาะเท่ากับ 0.5844 และ 0.5631 ตามลำดับ 
 
 
 
รูปที่ 15    ASTM D1657-89 Standard Test Method for Density or Relative Density of Light Hydrocarbons by Pressure Thermohydrometer, ASTM
 
          ดังนั้นจากคุณสมบัติของก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในสถานะที่เป็นของเหลวซึ่งมีค่าความหนาแน่นน้อยกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ความหนาแน่นของน้ำโดยประมาณ) LPG จึงเบากว่าน้ำและถ้าหากเกิดมี LPG รั่วขึ้นในสภาวะแวดล้อมปกติ LPG บางส่วนจะกลายเป็นไอกระจายไปโดยรอบบริเวณ บางส่วนที่กลายเป็นไอไม่ทันที่ยังคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ก็จะไหลลงสู่ท่อรางระบาย และหากมีน้ำอยู่ในท่อรางระบาย LPG ก็จะลอยบนผิวหน้าของน้ำไปจนกว่าระเหยกลายเป็นไอ
          หาก LPG มีสัดส่วนผสมระหว่างโปรเปน และ Butane พบว่าในฤดูร้อนจะให้ โปรเปน มีเปอร์เซนต์สัดส่วนผสมสูงขึ้นและลดสัดส่วน Butane เพราะโปรเปน เบากว่า Butane    ในทางกลับกัน เมื่อถึงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิติดลบจะบรรจุให้ Butane มีเปอร์เซ็นต์สัดส่วนผสมสูงขึ้นและลดสัดส่วนโปรเปนลงเพราะ Butane มีความดันไอสูงกว่า และมีจุดเดือดที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับคุณสมบัติของโปรเปน เพื่อให้สามารถจุดไฟติด
(ค.)             ความหนืด    คือ ความสามารถในการต้านทานการไหลของของไหล (ของเหลวหรือก๊าซ) ที่มีต่อภาชนะหรือท่อ  ของไหลต่างชนิดกันจะมีความหนืดแตกต่างกัน    ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในสภาพของเหลวจะมีความหนืดน้อยมาก (ความหนืดของน้ำเท่ากับ 1 เซนติพอยส์) จากคุณสมบัติอันนี้ ทำให้ก๊าซเหลวรั่วซึมได้ง่ายกว่าของเหลวชนิดอื่น  นอกจากนี้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวไม่มีคุณสมบัติในการหล่อลื่นเนื่องจากมีความหนืดต่ำ  ดังนั้นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปั๊มที่ใช้งานกับ LPG จึงเกิดการสึกหรอสูงมากเมื่อเทียบกับปั๊มที่ใช้กับน้ำมันปิโตรเลียมเพราะฉะนั้นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซปิโตรเลียมเหลวจึงต้องออกแบบให้เหมาะสมทนทานต่อการสึกหรอและแรงดันสูงได้   อนึ่ง อุณหภูมิจะมีผลต่อความหนืดของของไหล กล่าวคือ ของไหลที่มีสถานะเป็นของเหลว เมื่ออุณหภูมสูงขึ้นค่าความหนืดจะลดลง  แต่ถ้าเป็นก๊าซ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นค่าความหนืดก็สูงขึ้นด้วย
 
(ง.)              ความดันไอ (Vapor Pressure)   ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เมื่อถูกบรรจุอยู่ในภาชนะปิดภายใต้ความดันจะมีสถานะเป็นของเหลว   LPG เหลวจะระเหยเป็นไอเต็มช่องว่างที่อยู่เหนือระดับส่วนที่เป็นของเหลวจนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัว (Saturation Point) จึงจะหยุดระเหย   ค่าความดันของก๊าซ LPG ที่จุดอิ่มตัวนี้เรียกว่า “ค่าความดันไออิ่มตัว”    ค่าความดันไออิ่มตัวเป็นตัวบ่งบอกคุณสมบัติการระเหย (Volatility ) ของสารนั้นๆ กล่าวคือถ้าสารใดมีความดันไอสูงแสดงว่าสารนั้นสามารถระเหยได้เร็ว   นอกจากนี้ค่าความดันไอ LPG ยังเป็นค่าที่ขึ้นกับอุณหภูมิ LPG ณ ขณะนั้นโดยตรง กล่าวคือ ถ้าอุณหภูมิสูงค่าความดันไออิ่มตัวก็สูงขึ้นด้วย ตัวอย่างในรูปที่ 16  ที่อุณหภูมิของโปรเปน 0 °C มีค่าความดันเท่ากับ 4.5 bar แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 38 °C จะมีค่าความดันสูงขึ้นเป็น 14.5 bar
 
รูปที่ 16    คุณสมบัติบางประการของ Propane และ Butane
 
(จ.)             ความร้อนแฝงในการระเหย    ความร้อนแฝงในการระเหย คือ ปริมาณความร้อนที่ต้องใช้ในการระเหยต่อหน่วยน้ำหนักของสารเพื่อเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซที่จุดเดือดปกติ (ณ ความดันบรรยากาศ) หรือปริมาณความร้อนที่ต้องถูกดึงออกต่อหน่วยน้ำหนักของสารเพื่อให้ได้กลั่นตัวเป็นของเหลวที่ความดันบรรยากาศ   ทั้งนี้ค่าความร้อนแฝงดังกล่าวจะมีค่าลดลงเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวมีค่าความ ร้อนแฝงน้อยมากเมื่อเทียบกับความร้อนแฝงของน้ำดังนั้นเมื่อ LPG ถูกปล่อยออกจากภาชนะเก็บ LPG จะระเหยทันที่ การที่ LPG ระเหยได้ต้องได้รับความร้อนหรือดึงความร้อนจากบริเวณใกล้เคียงซึ่งจะทำให้บริเวณที่ถูกดึงความร้อนไปจะมีความเย็นจัดเพราะฉะนั้นถ้า LPG รั่วไหลออกมาถูกผิวหนังเราหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายจะทำให้ผิวหนังหรือส่วนนั้นๆของร่างกายนั้นได้รับความเย็นจัดจนถึงกับเนื้อเยื่อตาย
(ฉ.)     ความร้อนจำเพาะ    ค่าความร้อนจำเพาะ คือปริมาณความร้อนที่ทำให้วัตถุหนึ่งหน่วยน้ำหนักมีอุณหภูมิสูงขึ้นหนึ่งองศา  มีหน่วยเป็นกิโลแคลอรี่ / กิโลกรัม / °C หรือ บีทียู/ปอนด์/°F  เช่น เมื่ออยู่ในสถานะของเหลว ความดันคงที่ 1 บรรยากาศ อุณหภูมิ 25 °C ค่าความร้อนจำเพาะของโปรเปนมีค่าเท่ากับ 0.6023 ส่วนนอร์มัลบิวเทน,  ไอโซบิวเทน,  commercial propane  และ commercial butane จะมีค่าความร้อนจำเพาะเท่ากับ 0.5748, 0.5824, 0.60 และ 0.57 ตามลำดับ
(ช.)             อุณหภูมิของจุดติดไฟ (Ignition Temperature) เมื่อค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิให้กับเชื้อเพลิงจนเลยอุณหภูมิค่าหนึ่งแล้ว เชื้อเพลิงก็จะเริ่มลุกไหม้เองแม้จะไม่มีประกายไฟหรือสาเหตุของการติดไฟ   อุณหภูมิต่ำสุดที่เริ่มเกิดการลุกไหม้ตามธรรมชาตินี้เรียกว่า “อุณหภูมิของจุดติดไฟ (Ignition Temperature)” เนื่องจากอุณหภูมิจุดติดไฟของโปรเปน คือ  460 - 580 °C และของบิวเทนคือ 410 - 550 °C   ดังนั้นก๊าซปิโตรเลียมเหลวจึงติดไฟได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซินซึ่งมีจุดติดไฟ 280 - 430 °C และน้ำมันดีเชล  250 - 340 °C  เมื่อมองดูในเทอมนี้นั้นเราพบว่าก๊าซปิโตรเลียมเหลวค่อนข้างมีความปลอดภัยสูงกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซิลแต่ขอแนะนำอย่าไปลองทดสอบเองน่ะครับ อาจทำให้ชิ้นส่วนของร่างกายขาดหายได้หวาดเสียวน่า
(ซ.)             สัมประสิทธิ์การขยายตัว ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมีสัมประสิทธิ์การขยายตัวที่ 15 °C ประมาณ 0.300/°C สำหรับโปรเปน และ  0.002/°C สำหรับบิวเทน   พบว่าอุณหภูมิิยิ่งสูงการขยายตัวยิ่งมาก ตัวเลขนี้จำเป็นอย่างยิ่งใช้ในการคำนวณปริมาตรสูงสุดที่สามารถจะบรรจุก๊าซลงภาชนะหรือถังเก็บได้ในสภาพอุณหภูมิต่าง ๆ กัน   ดังนั้นการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงในถังจะต้องเหลือที่ว่างเหนือก๊าซเหลวไว้  โดยในส่วนของช่องว่างนี้จะมีไอก๊าซอยู่ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความดันที่เกิดการขยายตัวของของเหลวในกรณีที่ก๊าซได้รับความร้อนผิดปกติ    นอกจากนี้ระบบท่อส่งต่าง ๆ ที่ส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวจำเป็นต้องมีกลไกอุปกรณ์นิรภัยแบบระบายความดัน เช่น Pressure Relief Valve เป็นต้น
3.2.   คุณสมบัติทางกายภาพของก๊าซปิโตรเลียมเหลว เมื่ออยู่ในสถานะเป็นก๊าซ
(ก.)              ความหนาแน่น ปริมาตรจำเพาะและความถ่วงจำเพาะ    ค่าความถ่วงจำเพาะของก๊าซปิโตรเลียมเหลวเมื่อเป็นก๊าซจะแสดงถึงอัตราส่วนของความหนาแน่นระหว่างก๊าซกับอากาศที่อุณหภูมิและความดันเดียวกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าก๊าซปิโตรเลียมเหลวเมื่อเป็นก๊าซจะหนักเป็นกี่เท่าของอากาศ (เมื่อความหนาแน่นของ อากาศ = 1)
ที่อุณหภูมิ 15.5 °C (60 °F) ณ ความดันบรรยากาศ
โปรเปน มีค่าความถ่วงจำเพาะเมื่อเป็นก๊าซ เท่ากับ 1.5
บิวเทน มีค่าความถ่วงจำเพาะเมื่อเป็นก๊าซ เท่ากับ 2.0
 
ดังนั้น ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในสถานะที่เป็นก๊าซจะหนักกว่าอากาศเมื่อเกิดการรั่วไหลขึ้น ก๊าซจะไปรวมตัวอยู่ในบริเวณที่ต่ำและถ้าบริเวณที่ต่ำนั้นเป็นรางระบายน้ำหรือคูคลอง  ก๊าซอาจจะไหลตามน้ำไปทำให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ ณ จุดซึ่งห่างไกลจากบริเวณที่ก๊าซรั่วได้   นอกจากนี้ค่าความหนืดก๊าซปิโตรเลียมเหลวในสถานะของก๊าซจะมีความหนืดสูงขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
(ข.)             ความสามารถในการอัดตัวของก๊าซ LPG  (Compressibility factor)  สำหรับก๊าซอุดมคติ (ldeal Gas) ความสัมพันธ์ของอุณหภูมิ ความดันและปริมาตร สามารถแสดงโดยสมการสภาวะ (Equation of State) คือ
PV = nRT
เมื่อ      P = ความดัน ,
V = ปริมาตร ,
n = จำนวนโมล,
R = Gas Constant,
T = อุณหภูมิ
แต่สำหรับก๊าซ LPG จะมีลักษณะเบี่ยงเบนไปจากก๊าซอุดมคติ    ดังนั้นเพื่อให้สามารถใช้สมการสภาวะได้จึงจำเป็นต้องเพิ่มค่าความสามารถในการอัดตัวของก๊าซ (Compressibility factor, Z) เข้าไปในสมการคือ PV = ZnRT    สำหรับก๊าซไม่อุดมคติ โดยที่ Z จะมีค่าน้อยกว่า 1 คือที่อุณหภูมิ 15 °C ณ ความดันบรรยากาศ โปรเปน  นอร์มัลบิวเทน และไอโซบิวเทน มีค่า Z = 0.984 , 0.969 และ 0.971 ตามลำดับ
(ค.)      ช่วงการลุกไหม้ (Flammability Limits in Air) ก๊าซที่สันดาปได้จะมีช่วงส่วนผสมกับอากาศเพียงช่วงเดียวที่จุดไฟแล้วลุกไหม้ได้เพราะมีอากาศผสมอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ  ช่วงการลุกไหม้ได้จะแสดงค่าเป็นอัตราส่วนร้อยละ ( % ) ปริมาตรก๊าซต่ออากาศ   ค่าทางด้านความเข้มข้นสูงของช่วงการลุกไหม้ เรียกว่า “อัตราส่วน Higher Explosion Limit (U.E.L)”  ส่วนทางด้านความเข้มข้นต่ำของช่วงการลุกไหม้เรียกว่า “อัตราส่วน Lower Explosion Limit (L.E.L)”   ก๊าซ LPG จะสามารถลุกไหม้หรือติดไฟได้ก็ต่อเมื่อมีก๊าซผสมอยู่ในอากาศ 2-9% คือถ้ามีก๊าซ LPG ต่ำกว่า 2 ส่วนหรือมากกว่า 9 ส่วนในส่วนผสมของก๊าซกับอากาศกับอากาศ 100 ส่วน ส่วนผสมนั้นก็จะไม่ติดไฟ   ซึ่งค่อยอ่านในเนื้อต่อไป
(ง.)              อุณหภูมิของเปลวไฟ (Flame temperature)   อุณหภูมิของเปลวไฟที่ได้จากการเผาไหม้ของ LPG สูงมากพอที่จะหลอมโลหะต่าง ๆ ได้ เช่น หลอมเหล็ก ทองเหลือง อลูมิเลียม และแก้ว เป็นต้น โดยโปรเปน มีอุณหภูมิของเปลวไฟในอากาศ 1,930 °C และบิวเทน 1,900 °C  ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับงานอุตสาหกรรมหลอมโลหะ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการอบเครื่องเคลือบดินเผาอบสี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(จ.)              ค่าอ๊อกเทน (Octane Number)   LPG ในสถานะก๊าซที่ใช้สำหรับยานพาหนะนั้นจะมีค่าอ๊อกเทน (Octane No.) สูงประมาณ  95-110  ซึ่งสูงกว่าค่าอ๊อกเทนของน้ำมันเบนซินจึงเหมาะกับการใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์มาก แต่จะมีปัญหาในเรื่องอุณหภูมิของเปลวไฟของ LPG เมื่อมีการระเบิดในกระบอกสูบซึ่งจะมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำมันเบนซิลทำให้เครื่องร้อนมากกว่าต้องแลกเอาครับ
(ฉ.)             อัตราส่วนปริมาตรของเหลว/ก๊าซ (Liquid/Vapor Volume Ratio)  LPG เหลวเมื่อระเหยและเปลี่ยนสถานะไปเป็นก๊าซ พบว่าปริมาตรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากกล่าวคือที่อุณหภูมิ 15.5 °C (60 °F) โปรเปนเหลว 1 หน่วยปริมาตร เมื่อกลายเป็นก๊าซจะมีปริมาตรเป็น 274 หน่วยหรือพูดง่ายๆ คือขยายตัวไป 274 เท่าตัว  ส่วนบิวเทนเหลว 1 หน่วยปริมาตร เมื่อกลายเป็นก๊าซจะมีปริมาตรเป็น  233 หน่วย
ดังนั้น  LPG ในสถานะที่เป็นของเหลว ถ้ารั่วออกมาจะมีอันตรายมากกว่าที่เป็นก๊าซเพราะปริมาณ LPG สถานะของเหลวที่รั่วไหลออกมาเมื่อกลายเป็นสถานะก๊าซจะเพิ่มปริมาตรมากขึ้น 274 เท่าตัว การขยายตัวแพร่ตัว โอกาสที่ไปพบประกายไฟ โอกาสการระเบิดก็ยิ่งมาก อันตรายก็ยิ่งหายห่วงมีกี่ห่วงก็หายครับ จะอะไรเสียอีกครับก็มันจะรุนแรงสิครับ
(ช.)             ปริมาณอากาศที่ใช้ในการเผาไหม้ (Air Requirement) ก๊าซออกซิเจนเป็นก๊าซที่มีส่วนผสมอยู่ในอากาศ 21 % โดยปริมาตรและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเผาไหม้  ดังนั้นปริมาณอากาศที่ป้อนเข้าไปในห้องเผาไหม้จะต้องมีปริมาณที่แน่นอนในกรณีที่ก๊าซ LPG เผาไหม้อย่างสมบูรณ์ทั้งหมดก็จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำและการเปลี่ยนแปลงนี้เขียนเป็นสมการเคมีได้ดังต่อไปนี้
 
ดังจะเห็นได้จากสมการเหล่านี้ ปริมาณออกซิเจนที่จำเป็นต่อการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์จะเป็น 5 เท่าในกรณีของโปรเปน และ 6.5 เท่าในกรณีของบิวเทน   เนื่องจากปริมาณออกซิเจนในอากาศมีประมาณ 21% ฉะนั้น
 
 
 
รูปที่ 17  คุณสมบัติ LPG จาก NFPA 58 Liquefied Petroleum Gas Code, 2004 Edition
 
ในการเผาไหม้โปรเปนอย่างสมบูรณ์ 1 ลูกบาศก์เมตรจะต้องใช้อากาศ 24 ลูกบาศก์เมตร   ส่วนบิวเทน 1 ลูกบาศก์เมตรจะใช้อากาศ 31 ลูกบาศก์เมตรดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันเบนซินแล้ว  LPG ต้องการปริมาณอากาศมากกว่าเล็กน้อย
(ซ.)             ค่าความร้อนของการเผาไหม้ (heat of combustion) ค่าความร้อนของการเผาไหม้ของก๊าซ LPG  หมายถึงค่าปริมาณความร้อนที่เกิดขึ้นจากการนำเอาก๊าซ LPG หนึ่งหน่วยน้ำหนัก หรือหนึ่งหน่วยปริมาตรมาเผาไหม้ที่ความดันบรรยากาศและอุณหภูมิปกติ (25 °C) ค่าความร้อนของการเผาไหม้เป็นค่าที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของเชื้อเพลิง และใช้ในการคำนวณหาประสิทธิภาพเชิงความร้อนของเครื่องจักร
(ฌ.)            สี กลิ่น และการละลาย    LPG บริสุทธ์ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ดังนั้น บริษัท ผู้ผลิตก๊าซ LPG จึงต้องเติมสารประกอบที่มีกลิ่นเหม็นลงไปด้วย เพื่อให้ผู้ใช้รู้ตัวเมื่อก๊าซ LPG เกิดรั่ว หรือผู้ใช้ลืมปิดวาล์วใช้ก๊าซ สารประกอบที่เติมลงไปเพื่อทำให้ก๊าซ LPG มีกลิ่นเหม็นเป็นสารพวกเมอร์แคบแทน (Mercaptan)  นอกจากนี้ก๊าซ LPG  มีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลาย (Solvent) เช่นเดียวกับพวกน้ำมันระเหยจึงสามารถละลายหรือทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำมาจากยางธรรมชาติเสียคุณสมบัติได้ เช่น ปะเก็นหรือซีลต่าง ๆ ดังนั้นอุปกรณ์ที่นำมาใช้กับถังที่บรรจุก๊าซ LPG  ควรใช้วัสดุอื่นที่ไม่ได้ทำมาจากยาง ธรรมชาติ เช่น ยางสังเคราะห์ เป็นต้น
 
4.             การจัดเก็บก๊าซ LPG
จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบที่นิยมกันคือ
4.1.        Pressurized Gas Tankers จัดเก็บก๊าซ LPG ภายในภาชนะภายใต้ความดันสูงประมาณ 80-190 Psi (6 – 13 barg) ในการออกแบบถังความดันจึงต้องออกแบบให้สามารถรองรับความดันไม่น้อยกว่าที่ประมาณ 18 barg   โดยสามารถรองรับอุณหภูมิสูงสุดที่ทนได้ในการขนย้าย LPG เข้าออกถังสำรองที่ 45 °C ส่งผลให้ขนาดถังสำรองรูปแบบนี้ที่ได้รับการออกแบบสำหรับการขนส่งจึงมีขนาดไม่เกิน 1,000 m3 ซึ่งเรามักพบเห็นในการขนส่งทางบกด้วยรถยนต์ (ดูรูปที่ 18)
4.2.        Semi-Refrigerated /Semi-Pressurized Gas Carriers จัดเก็บก๊าซ LPG ไว้ภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเดือดของก๊าซ LPG ซึ่งจุดเดือดของก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ 50 °C ดังนั้นความดันภายในถังจะเหลือเพียง 2.8 - 7.0 barg ขนาดถังที่ได้รับการออกแบบสำหรับการขนส่งจึงมีขนาดไม่เกิน 12,000 m3 โดยประมาณ
4.3.   Fully Refrigerated Gas Carriers เป็นการจัดเก็บก๊าซด้วยสภาวะภายในถังจัดเก็บที่มีความดันเท่ากับหรือใกล้เคียงความดันบรรยากาศ โดยควบคุมอุณหภูมิภายในถังสำรองให้เท่ากับหรือใกล้เคียงอุณหภูมิจุดเดือดของก๊าซนั้นๆ   สำหรับการจัดเก็บก๊าซโปรเปนจะควบคุมอุณหภูมิภายในถังสำรองแบบนี้เท่ากับอุณหภูมิจุดเดือดของก๊าซโปรเปนซึ่งอยู่ที่ -42 °C หรือต่ำกว่าเล็กน้อยเช่นที่ -45 °C ส่วน Butane จัดเก็บที่อุณหภูมิ -2 °C  ดังนั้นด้วยระบบจัดเก็บก๊าซวิธีนี้จึงมีการจัดเก็บที่อุณหภูมิต่ำสุดของถังสำรองอยู่ที่ -50 °C และมีความดันภายในถังขณะใช้งาน (Working Pressure) ประมาณ 250 millibar (ดูรูปที่ 19) ขนาดถังที่ได้รับการออกแบบสำหรับการขนส่งจึงมีขนาดระหว่าง 5,000 - 75,000 m3 
 
   
รูปที่ 18   ถังสำรองแบบเก็บด้วยความดัน
 
          ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เห็นการขนส่งด้วยวิธีการจัดเก็บด้วยวิธีการนี้กับการขนส่งทางบกแต่จะพบเห็นในการขนส่งทางเรือเดินทางข้ามมหาสมุทรเนื่องจากสามารถจัดเก็บได้ปริมาณมาก ยกตัวอย่างในกรณีที่ ปตท. ทำการซ่อมแซมโรงแยกก๊าซธรรมชาติประจำปี ทำให้กำลังการผลิตก๊าซลดต่ำลงส่งผลให้ปริมาณก๊าซ LPG มีไม่พอใช้ภายในประเทศ  ปตท.ก็จะสั่งนำเข้าก๊าซโปรเปน และ/หรือ ก๊าซ Butane และ/หรือก๊าซ LPG (ส่วนผสมของก๊าซโปรเปนกับก๊าซ Butane) จากต่างประเทศเป็นลำเรือใหญ่ๆ ซึ่งขนส่งด้วยวิธีการจัดเก็บแบบ Fully Refrigerated Gas Carriers (ดูรูปที่ 21)  น่ะครับ
  
 
รูปที่ 19  Fully Refrigerated Storage Tanks หรือ Cold Storage Tanks หรือ Cryogenic Storage Tanks  3 รูปแบบตาม BS 7777 Part1-1993
 
 
รูปที่ 20  Fully Refrigerated Storage Tanks
  
 
 
รูปที่ 21  Fully Refrigerated Gas Carriers
 
5.             โทษของก๊าซ   LPG
เนื่องจากอุตสหกรรมทางด้านปิโตรเลียมนั้น ความเสียหายจากการระเบิดของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในแต่ละครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการอย่างรุ่นแรงทั้งในรูปของชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความเสียหายทางด้านธุรกิจ รวมไปจนถึงสภาวะแวดล้อมบริเวณโดยรอบพื้นที่อีกแล้ว ยังมีความเสียหายต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในระยะสั้นแลระยะยาว    ทำให้มีการศึกษาในเรื่องการระเบิดของผลิตภัณฑ์กันอย่างจริงจัง ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจในเรื่ององค์ประกอบของการจุดติดไฟหรือการระเบิดเสียก่อน ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ
1.         สารไวไฟ (Flammable Gas or Material) หรือส่วนที่เป็นไอระเหยผสมอยู่ในอากาศ
2.         ก๊าซออกซิเจนในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ
3.         แหล่งจุดไฟ (Ignition Source) มีพลังงานความร้อนที่เพียงพอ เช่น เปลวไฟ การเกิดประกายไฟหรือการถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิต ประกายไฟจากการลัดวงจรไฟฟ้าหรือจากหน้าสัมผัสสวิตช์ไฟ เป็นต้น
 
 
รูปที่ 22  องค์ประกอบของการจุดติดไฟหรือการระเบิด
 
แต่ก็นั้นแหละไม่ใช่ออยู่ๆ หากมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ประการแล้วจะเกิดการติดไฟหรือระเบิดไปเสียทุกครั้ง ยังต้องคำนึงถึงชนิดสารไวไฟนั้นๆว่ามีคุณสมบัติอย่างไรเมื่อผสมเจือปนเข้ากับอากาศแล้วก่อให้เกิดสภาพจุดติดไฟ (Explosive Atmosphere) มารู้จักนิยามการระเบิดเสียก่อน
การระเบิด  คือ ปฏิกิริยาเคมีของสารไวไฟกับออกซิเจนและปลดปล่อยพลังงานความร้อนสูงมาก หรือความดันสูงมาก หรือทั้งความร้อนและความดันสูงมากร่วมกัน ทั้งนี้สารไวไฟอาจอยู่ในรูปของแก๊ส (Gas) หรือไอระเหย (Vapor)
สารแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการจุดติดไฟต่างกัน ดังนั้นแม้ครบองค์ประกอบการจุดติดไฟหรือการระเบิด (สารไวไฟ ออกซิเจนและประกายไฟ) สารบ้างชนิดจะเกิดการติดไฟหรือระเบิด แต่สารบางชนิดอาจจะไม่ทำให้เกิดการระเบิดหรือไฟไหม้ขึ้นได้  เราจึงต้องมาดูคุณสมบัติที่สำคัญของสารไวไฟที่ปนเปื้อนในอากาศและทำให้เกิดสภาพบรรยากาศที่จุดติดไฟได้ (Explosive Atmosphere) มี 5 ประการ คือ
1.    Lower Explosive Limit (LEL) คือ ปริมาณเปอร์เซ็นต์ของสารไวไฟ (Flammable Gas or Material) หรือส่วนที่เป็นไอระเหยขั้นต่ำผสมอยู่ในอากาศ จนมีส่วนผสมที่เหมาะสมทำให้เกิดสภาพจุดติดไฟหรือระเบิดได้ (Explosive mixture) หากมีปริมาณเปอร์เซ็นต์ของสารไวไฟหรือส่วนที่เป็นไอระเหยเจือปนในอากาศเข้มข้นหรือปริมาณต่ำกว่าค่านี้ ก็จะไม่ก่อให้เกิดการจุดติดไฟหรือระเบิด
 
รูปที่ 23 ขอบเขตการการจุดติดไฟของสารไวไฟ (Explosive Limits)
  
 
 
รูปที่ 24 ความเข้มข้นของไอสารไวไฟในเทอมของปริมาณเปอร์เซ็นต์ของสารไวไฟหรือส่วนที่เป็นไอระเหยผสมอยู่ในอากาศ
2.    Upper Explosive Limit (UEL) คือ ปริมาณเปอร์เซ็นต์ของสารไวไฟ (Flammable Gas or Material) หรือส่วนที่เป็นไอระเหยมากที่สุดผสมอยู่ในอากาศ จนมีส่วนผสมที่เหมาะสมทำให้เกิดสภาพจุดติดไฟหรือระเบิดได้ (Explosive Mixture) หากมีปริมาณเปอร์เซ็นต์ของสารไวไฟหรือส่วนที่เป็นไอระเหยเจือปนในอากาศเข้มข้นหรือปริมาณสูงกว่าค่านี้ ก็จะไม่ก่อให้เกิดการจุดติดไฟหรือระเบิด
ด้วยเหตุนี้การจุดติดไฟ หรือระเบิดจะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ในสภาพตั้งแต่ Lower Explosive Limit (LEL) จนถึง Upper Explosive Limit (UEL)  ดูรูปที่ 25 ทั้งนี้ขอบเขตการจุดติดไฟของสารไวไฟตั้งแต่ LEL จนถึง UEL ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสารไวไฟแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น ก๊าซ Methane จะมี LEL เท่ากับ 5% และ UEL 17% โดยปริมาตรของอากาศ นั้นหมายความว่าหากในอากาศที่มีอัตราส่วนผสมของก๊าซ Methane ต่ออากาศอยู่ระหว่าง 5 : 95 จนถึง 17 : 83 แล้วหากเกิดประกายไฟขึ้นโอกาสการระเบิดจะสามารถเกิดขึ้นได้สูงทันที แต่ถ้าหากอัตราส่วนผสมของก๊าซ Methane ต่ออากาศน้อยกว่านี้ 5 : 95 หรือมากกว่า 17 : 83 หากเกิดประกายไฟขึ้นโอกาสจะเกิดการระเบิดเป็นไปได้ยาก (ดูรูปที่ 26)
 
รูปที่ 25 ขอบเขตการการจุดติดไฟของสารไวไฟ
  
รูปที่ 26 ตัวอย่างขอบเขตการการจุดติดไฟของก๊าซ Methane
 
 
รูปที่ 27 ตัวอย่างขอบเขตการจุดติดไฟของสารไวไฟ
 
3. Flash Point คือ ค่าอุณหภูมิต่ำสุดที่ทำให้สารไวไฟที่มีสถานะเป็นของเหลวเกิดการระเหยกลายเป็นไอจากนั้นผสมอยู่ในอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสมก่อในจุดติดไฟได้บริเวณเหนือของเหลวชนิดนั้น เราเรียกของเหลวประเภทนี้ว่า “Flammable Liquid” ซึ่งจะมี Flash point ต่ำกว่า 100 °F (37.78 °C) สำหรับของเหลวที่มี Flash point สูงกว่า 100 °F (37.78 °C) เรียกว่า “Combustible Liquid” จากคุณสมบัติดังกล่าวเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาและจัดเก็บสารไวไฟให้อยู่ในสภาวะอุณหภูมิต่ำกว่า Flash point ไม่ทำให้เกิดสภาพของพื้นที่อันตรายขึ้นได้ ก็จะปลอดภัย
4.    Auto-Ignition Temperature คือ อุณหภูมิต่ำที่สุดที่ทำให้แก๊ส หรือไอระเหยของสารไวไฟซึ่งผสมอยู่ในบรรยากาศจะเกิดการลุกติดไฟได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีประกายไฟในพื้นที่ที่มีการรั่วไหลของแก๊สหรือไอระเหยของสารไวไฟถ้ามีการใช้งานเครื่องจักรกลหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งทำให้เกิดความร้อนสูงที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง (Hot Spot) โดยความร้อนที่เกิดขึ้นนี้มีอุณหภูมิสูงกว่า ค่า Auto-Ignition Temperature ของแก๊สหรือไอระเหยนั้นๆ อาจจะทำให้สารไวไฟในบรรยากาศเกิดการลุกติดไฟขึ้นเองได้
5.    Vapor Density คือ  ความหนาแน่นของแก๊สหรือไอระเหยของสารไวไฟเมื่อเทียบกับอากาศ ถ้าค่าความหนาแน่นของแก๊สหรือไอมากกว่า 1.0 แสดงว่าแก๊สหรือไอนี้หนักกว่าอากาศเมื่อเกิดมีการรั่วไหล  แก๊สหรือไอนี้จะลอยอยู่ในระดับต่ำ  แต่ถ้าค่าความหนาแน่นของแก๊สหรือไอน้อยกว่า 1.0 แสดงว่าแก๊สหรือไอชนิดนี้เบากว่าอากาศ  เมื่อเกิดมีการรั่วไหลแก๊สหรือไอนี้จะลอยขึ้นสูง
 
อุตสาหกรรมทางด้านปิโตรเลียมได้ทำการศึกษา Explosion Limits ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมพอสรุปได้บางชนิดดังตารางที่ 4   ดังนั้นหากมีองค์ประกอบครบ 3 ประการและอัตราส่วนของของเหลวปิโตรเลียมกับอากาศอยู่ในระหว่าง Lower Explosion Limit (L.E.L) กับ Higher Explosion Limit (U.E.L) การจุดติดไฟหรือระเบิดจะเกิดขึ้นได้ (ดูรูปที่ 28)   ยกตัวอย่างเช่น ก๊าซ โปรเปน จะมี L.E.L เท่ากับ 2.1 และ U.E.L 9.4 นั้นหมายความว่าหากในอากาศมีอัตราส่วนผสมของก๊าซ โปรเปน ต่ออากาศอยู่ระหว่าง 2.1 : 97.9 จนถึง 9.4 : 90.6 แล้วเกิดประกายไฟขึ้น จะมีโอกาสเกิดการระเบิดขึ้นได้สูงแต่ถ้าหากอัตราส่วนผสมของก๊าซ โปรเปน ต่ออากาศน้อยกว่านี้ 2.1 : 97.9 หรือมากกว่า 9.4 : 90.6   หากเกิดประกายไฟขึ้น การระเบิดก็เกิดขึ้นได้ยาก
หากเกิดปัญหาหน้างานและกลัวการระเบิดก็ควรหาอุปกรณ์ตัวที่สามารถวัดค่าอัตราส่วน Lower Explosion Limit (L.E.L) กับ Higher Explosion Limit (U.E.L) แต่ถ้าสามารถหาได้ก็หาเอาพวกอุปกรณ์ชนิด Gas Detector (ก่อนใช้งานก็ตรวจสอบกับไฟแช็คแก๊สที่ใช้สูบบุหรี่โดยเปิดวาล์วแก๊สไฟแช็ค แต่ไม่ต้องสะกิดถ่านให้ไฟติดล่ะ) แทนก็ยังดีหรือหลีกเลี่ยงการกระทำใดที่อาจก่อให้มีองค์ประกอบครบ 3 ประการคือ เชื้อเพลิง อากาศ และประกายไฟ   ซึ่งหากตัดปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดออกไปได้ การระเบิดจะไม่เกิดขึ้นล่ะครับ
 
 
ตารางที่ 4   Explosion Limits ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
 
 
รูปที่ 28  ตัวอย่าง Lower Explosion Limit กับ Higher Explosion Limit การจุดติดไฟหรือระเบิดจะเกิดขึ้นได้
 

 

 

ตารางที่ 5  LEL& UEL     Sources: Data extracted from Gas Data Book, 7th edition, copyright 2001 by Matheson Gas Products, and from Bulletin 627, Flammability Characteristics of Combustible Gases and Vapors, copyright 1965 by U.S. Department of the Interior, Bureau of Mines.
 
หากก๊าซ LPG โดนผิวหนังของเรา ผิวหนังจะไหม้เหมือนโดนถูกไฟลวกทั้งนี้ก็เพราะเวลาที่ก๊าซ LPG เปลี่ยนสถานะจากของเหลวที่มีความดันสูงกลายเป็นไอจะดูดความร้อนแฝงจากสิ่งแวดล้อมซึ่งในที่นี้ก็คือ ความชื้นภายในผิวหนังเรานั้นเอง
นอกจากนี้ก๊าซ LPG ยังมีน้ำหนักมากกว่าอากาศโดยทั่วไป ดังนั้นหากมีการรั่วไหลออกจากถังบรรจุก๊าซ LPG จะไปแทนที่อากาศ ซึ่งรวมถึงก๊าซออกซิเจนที่เราใช้หายใจที่มีอยู่ในอากาศประมาณ 17 % ของอากาศทั้งหมดส่งผลให้หากมีใครอยู่บริเวณนั้นจะขาดออกซิเจนและตายลงได้เช่นเดียวกัน   ถ้าไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ได้ทันเวลา
หากก๊าซ LPG มีการรั่วไหล ออกจากภาชนะถังบรรจุความดัน ก๊าซ LPG จะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 270 เท่าเลยทีเดียว
 
6.             การจัดวางถังบรรจุก๊าซความดันสำหรับบรรจุก๊าซเหลว LPG  
ตามข้อกำหนด NFPA 58 มาตรฐานความปลอดภัยได้กำหนดการจัดวางถังบรรจุก๊าซความดันสำหรับจัดเก็บก๊าซ LPG ดังเช่นในรูปที่ 29 และรูปที่ 30  แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการจัดวางถังจริง ๆ ต้องไปปรึกษากรมโยธาธิการดีกว่าครับ เพราะข้อมูลทันสมัยกว่าและที่สำคัญถูกต้องตามกฎหมาย
 
(ก)
 
(ข)
 
(ค)
รูปที่ 29  ข้อกำหนด NFPA 58 – 2004 มาตรฐานความปลอดภัยได้กำหนดการจัดวางถังบรรจุก๊าซความดัน
 
 
 
รูปที่ 30  ข้อมูลทั่วไปของ LPG
 
          ก่อนจบขอตั้งคำถามทิ้งไว้สักข้อว่า   มีบริษัทหนึ่งถามว่า “มาตรวัดปริมาตรของเหลวของบริษัทใช้วัดซื้อขายโปรปิลีน (Propylene) มาตรวัดปริมาตรของเหลวดังกล่าวต้องได้รับการตรวจสอบให้คำรับรองหรือเปล่า ?” ถ้าตอบได้ น่าจะแสดงว่าอ่านบทความแล้วเข้าใจ ถ้ายังมึนก็กลับไปอ่านอีกรอบเถอะ ...... สาธุ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
แหล่งข้อมูลอ้าอิง
1.                http://www.doeb.go.th/v3/knowledge/knowledge_article_Natural1.htm
2.                http://www.doeb.go.th/knowledge/knowledge_article_Natural2.htm
3.                GPA Standard 2140-97, Liquefied Petroleum Gas Specifications and Test Methods, Gas Processors Association, 1997
4.                Natural Gas Conversion Guide, 2012, International Gas Union (IGU)
5.          Report No: 2006/268-Issue 1, REVIEW OF LPG FLOW MEASUREMENT TECHNOLOGIES AND MEASUREMENT ISSUES, Nov 2006, A Report for National Measurement System Programme Unit, Department of Trade & Industry, NEL
6.                Handbook of Petroleum Processing, DAVID S. J. “STAN” JONES, PETER R. PUJAD´O, 2006 Springer
7.                ENGINEERING DATA BOOK, FPS VERSION, Volumes I & II, 12 Edition, 2004, Gas Processors Suppliers Association
8.                สารานุกรม เปิดโลกปิโตรเคมี Petrochemical Encyclopedia, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), 2554
9.                NFPA 58 Liquefied Petroleum Gas Code, 2004 Edition, National Fire Protection Association
10.          ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบ และการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. 2554
11.            Handbook of Natural Gas Transmission and Processing, Principles and Practices, 3rd Edition, Saeid Mokhatab, William A. Poe, John Y. Mak, 2015, Elsevier Inc & Gulf Professional Publishing
 
 
 
 
ชั่งตวงวัด; GOM MOC
นนทบุรี
24 มกราคม 2563 

 



จำนวนผู้เข้าชม : 17991